‘หุ้นการบิน’ ขาดทุนยับ Q1/65 ผิดหวัง AAV หั่นเป้าปีนี้

HoonSmart.com>>3  หุ้นธุรกิจการบินปีกหัก “เอเชีย เอวิเอชั่น”ขาดทุน -2,371 ล้านบาท แย่ลง 27% คาดไตรมาส 2  ดีต่อ เล็งเปิดเส้นทางระหว่างประเทศเพิ่ม  นักวิเคราะห์ผิดหวัง คาดปี 65 ขาดทุนเพิ่ม เจอพิษน้ำมันแพง-ดอลลาร์แข็ง “การบินกรุงเทพ”แย่ลง ขาดทุน -1,020 ล้านบาท “การบินไทย”ฟื้น ขาดทุนเพียง-3,247 ล้านบาท ” ท่าอากาศยานไทย “ดีขึ้น  ขาดทุน -3,276 ล้านบาท เที่ยวบินลดลง 1.76% ผู้โดยสารเพิ่มเล็กน้อย

บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย (TAA) เปิดเผยผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ขาดทุนสุทธิ -2,371 ล้านบาท แย่ลง -27.13% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนขาดทุน -1,865 ล้านบาท โดยมีรายได้รวม 2,091.0 ล้านบาท จาก TAA ฟื้นตัวแข็งแกร่งอย่างน่าพอใจ มีอัตราขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ย 73% เพิ่มขึ้น 7 จุด ยอดขนส่งผู้โดยสารสูงถึง 1.45 ล้านคน เพิ่มขึ้น 48% ราคาค่าโดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 7% มาอยู่ที่ 1,018 บาทต่อคน

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนขายและการบริการเพิ่มขึ้นตามปริมาณเที่ยวบิน กอปรกับราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยปรับขึ้น  61% จากปีช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการขายและค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้น  21% โดยหลักจากค่าธรรมเนียมการขายและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มทุนของบริษัท ทั้งนี้ยอดผู้โดยสารยังมีสัญญาณที่ดีต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย หลังมาตรการเข้าประเทศผ่อนคลาย ทำให้ TAA สามารถเพิ่มความถี่บินและเปิดเส้นทางใหม่ๆ ได้ต่อเนื่อง

นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น และบริษัทไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 1  ได้รับสัญญาณที่ดีชัดเจนจากบรรยากาศการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวและการยกเลิกการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนเดินทางเข้าประเทศ จึงเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจ  บริษัทวางเป้าหมายในการเพิ่มเส้นทางระหว่างประเทศใหม่ๆ ต่อเนื่องในตลาดอาเซียนและเอเชียใต้  พร้อมเปิดบินแล้ว 8 ประเทศ 19 เส้นทางบิน สู่ มัลดีฟส์ กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย และลาว เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางแรกๆ ในการกลับมาท่องเที่ยวใช้จ่ายอีกครั้ง หลังสถานการณ์โควิด-19

“TAA เดินหน้ากลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน จึงทยอยเพิ่มปริมาณที่นั่งและเที่ยวบินให้เหมาะสมตามสถานการณ์  เราจะกลับมารุกตลาดเส้นทางระหว่างประเทศได้อย่างเต็มที่ ทั้งในเส้นทางเดิม และสีสันใหม่ๆ ในเส้นทางบินสู่ประเทศญี่ปุ่น ที่ TAA จะบุกตลาดเป็นครั้งแรก ในไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป เราจะรุกทำแคมเปญการตลาดต่อเนื่อง โดยเฉพาะแคมเปญ SUPER+ ตั๋วบินสนั่นทั่วไทยและอาเซียนแบบเดินทาง 1 ปี ” นายสันติสุข กล่าว

ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น บริษัทอาจเสียประโยชน์จากค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศ อาทิ สัญญาซ่อมบำรุง สัญญาเช่าเครื่องบิน ดังนั้นบริษัทจึงบริหารภายใต้นโยบายบริหารความเสี่ยงแบบธรรมชาติ คือ จัดการให้รายจ่ายอยู่ในสกุลเงินเดียวกับรายรับให้มากที่สุด ส่วนโครงสร้างเงินกู้สกุลเงินต่างๆ จะถูกปรับให้สอดคล้องกับสกุลเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน โดยพิจารณานำเครื่องมือทางการเงินมาบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามความเหมาะสม

ด้านราคาดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น และมีความผันผวนในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มี.ค. 2565 บริษัทไม่มีสัญญาแลกเปลี่ยนราคาน้ำมัน

บล.ไทยพาณิชย์ให้น้ำหนักการลงทุนหุ้น AAV ต่ำกว่าตลาด และลดราคาเป้าหมายสิ้นปีนี้เหลือ 2 บาท จาก 2.1 บาท หลังจากปรับประมาณการผลประกอบการลง คาดขาดทุนเพิ่มเป็น 6,800 ล้านบาท ในปี 2565 จากเดิมคาดไว้ว่าจะขาดทุนปกติ 4,200 ล้านบาท และ 929 ล้านบาทในปี 2566 จากเดิมคาดการณ์ขาดทุนปกติ 189 ล้านบาทก่อนจะพลิกมีกำไร 1,3000 ล้านบาทในปี 2567 ลดลงจากประมาณการเดิม เพื่อสะท้อนการปรับสมมติฐานราคาเชื้อเพลิงเครื่องบินเพิ่มขึ้นสูง

ผลประกอบการในไตรมาส 1/2565 หากตัดรายการพิเศษออกไป พบว่ามีขาดทุนปกติ 2,500 ล้านบาท แย่ลงทั้ง YoY และ QoQ เพราะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทไทยแอร์เอเชียเป็น 100% จาก 55% และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากราคาเชื้อเพลิงเครื่องบิน

ในระยะสั้นมีความกังวลเกี่ยวกับราคาเชื้อเพลิงเครื่องบินที่สูงขึ้น และความสามารถของ AAV ในการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นก่อนที่จะกลับมาเปิดเส้นทางระหว่างประเทศเพิ่มในครึ่งปีหลัง ในการประชุมนักวิเคราะห์ AAVคาดว่าอัตราค่าโดยสารเฉลี่ยจะปรับตัวดีขึ้้นในครึ่งปีหลัง ซึ่งน่าจะช่วยลดผลกระทบจากราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นได้ บริษัทคาดว่าค่าซ่อมบำรุงจะค่อยๆลดลงในไตรมาสที่ 2-3 เมื่อธุรกรรมการขายและเช่ากลับเสร็จสิ้น คาดว่าขาดทุนจะเพิ่มขึ้น YoY และ QoQ

” เรามองว่า valuation ไม่น่าสนใจ เนื่องจากหุ้น AAV ปรับตัวสูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิด-19 อยู่ 3.6%”บล.ไทยพาณิชย์ระบุ

บล.พาย ปรับประมาณการใหม่ คาดว่าจะขาดทุน 5,667 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ 3,405 ล้านบาท คาดสมมติฐานราคาน้ำมัน 100 เหรียญ/บาร์เรล เดิมคาดไว้ 70 เหรียญ และจำนวนผู้โดยสาร 10.4 ล้านคน เดิม 12.3 ล้านคน ปรับคำแนะนำเป็น”ขาย” ไปก่อน ประเมินมูลค่าพื้นฐานที่ 2.5 บาท คาดจะยังเห็นผลขาดทุนต่อเนื่องทุกไตรมาส

บล.คิงส์ฟอร์ด แนะนำ “ถือ” หุ้น AAV ราคาเหมาะสมปี 2565 ที่ 2.60 บาท  โดยราคาหุ้นที่ปรับขึ้นกว่า 40% ภายใน 2 เดือนสะท้อนความคาดหวังเชิงบวกต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไปแล้ว ขณะที่ผลประกอบการระยะสั้นของ AAV ยังฟื้นตัวได้ค่อนข้างจำกัดจากราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง

สำหรับบริษัท การบินกรุงเทพ (BA) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ขาดทุนสุทธิ -1,020 ล้านบาท แย่ลงจากที่ขาดทุน -746 ล้านบาท บริษัทมีขาดทุนจากการดำเนินงาน -826.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 69.8 ล้านบาทหรือ 9.2% เป็นผลจากค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 453.7 ล้านบาททหรือ 22.3% โดยเฉพาะต้นทุนขายและบริการที่เพิ่มขึ้น 523.2 ล้านบาท หรือ 34.5% ขณะที่มีรายได้รวม 1,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 340.8 ล้านบาทหรือ 25.1% จากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากบัตรโดยสารของธุรกิจการบิน ธุรกิจสนามบินและรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน ซึ่งเพิ่มขึ้น 208.8% 206.9% และ 41.6% ตามลำดับ

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ กล่าวว่า ในไตรมาส 1/2565 บริษัทฯ ได้เพิ่มจำนวนเที่ยวบินในเส้นทางการบินหลัก ทำให้มีจำนวนผู้โดยสาร 0.4 ล้านคน และจำนวนเที่ยวบินเท่ากับ 5,037 เที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้น  145.8% และ 104.4%  และมีอัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่  63.5%และมีราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 2,469.6 บาท เพิ่มขึ้น 31.3%

บริษัทฯมีการจัดตั้งบริษัท กรุงเทพ รีทแมเนจเม้นท์   ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เพื่อเตรียมการระดมทุนโดยการจัดตั้งกองทรัสต์อสังหาริมทรัพย์จากธุรกิจสนามบิน

บริษัท การบินไทย (THAI) ดีขึ้น ไตรมาสแรกปีนี้ขาดทุนเพียง -3,247 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนขาดทุนถึง -12,203 ล้านบาท หากไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว มีรายได้รวม 11,181 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 6,797 ล้านบาท หรือ 155% สาเหตุหลักเกิดจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเพิ่มขึ้น 6,719 ล้านบาทหรือ 255.7% รายได้จากการบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้น 103 ล้านบาท หรือ 8.3% เนื่องจากบริษัทเริ่มกลับมาทำการบินและให้บริการเที่ยวบินประจำในเส้นทางระหว่างประเทศครอบคลุมภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และออสเตรเลีย เพื่อรองรับความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร

บริษัทท่าอากาศยานไทย (AOT) แจ้งผลงานไตรมาสที่ 2 (ม.ค.-มี.ค.2565 ) ขาดทุนสุทธิ -3,276 ล้านบาท ดีขึ้น 367 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนมีขาดทุนสุทธิ -3,644 ล้านบาท จากรายได้รวมเพิ่มขึ้น 1,496 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 827 ล้านบาท รวม 6 เดือนขาดทุนทั้งสิ้น 7,548 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากที่มีจำนวน 7,086 ล้านบาทในปีก่อน โดยมีจำนวนเที่ยวบินรวม 164,386 เที่ยวบิน ลดลง 1.76% ขณะที่มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเล็กน้อย