EXIM BANK โกยกำไร 411ลบ.พุ่ง 346% เร่งเพิ่ม SMEs ส่งออกรายใหม่ Q1/65

HoonSmart.com>>EXIM BANK โชว์ผลงานไตรมาส 1/65 เติบโตแข็งแกร่งขึ้นในทุกมิติ เพิ่มผู้ส่งออกป้ายแดง-ธุรกิจใหม่ จากวงเงินอนุมัติใหม่ 14,973 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74.37% แบ่งเป็นลูกค้า SMEs 4,541 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 215.67%  ขยายฐานลูกค้าใหม่ถึง 11,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 361.86% ผู้ประกอบการไทยขยายธุรกิจในภูมิภาคได้มากขึ้น มียอดคงค้างสินเชื่อโครงการใน CLMV-ตลาดใหม่ 51,554 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.56% 

ดร. รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) แถลงผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาสแรก(มกราคม-มีนาคม 2565) ว่า ธนาคารสามารถขับเคลื่อนตามวิสัยทัศน์ในการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (Thailand Development Bank) ที่สนับสนุนการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มการจ้างงานและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนที่สูงก็ตาม

ในไตรมาส 1/ 2565 EXIM BANK มีวงเงินอนุมัติสินเชื่อใหม่ 14,973 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 74.37%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นวงเงินของลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวน 4,541 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 215.67% นอกจากนี้มีการปล่อยวงเงินอนุมัติสินเชื่อใหม่ให้กับลูกค้ารายใหม่ถึง 11,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 361.86% สะท้อนความสำเร็จของธนาคารในการเข้าถึงธุรกิจรายใหม่ ทำให้มีสินเชื่อคงค้าง 150,621 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,209 ล้านบาท หรือ 12.06%  แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 38,030 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 112,591 ล้านบาท

นอกจากนี้ EXIM BANK ยังมุ่งมั่นเป็นผู้นำ พากิจการไทยไปปักธงในตลาด CLMV และตลาดใหม่หรือ New Frontiers ที่มีศักยภาพและอัตราการเติบโตสูง โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 มียอดคงค้างสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 65,688 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 5,543 ล้านบาท หรือ 9.22%  และยังสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการสยายปีกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และตลาดใหม่ อย่างต่อเนื่อง โดยมีสินเชื่อคงค้างจำนวน 51,554 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,069 ล้านบาท หรือ 18.56%  โดยเป็นสินเชื่อคงค้างในเวียดนาม จำนวน 13,843 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 65.65%  ทั้งนี้ EXIM BANK มีกำหนดการเปิดทำการสำนักงานผู้แทนในนครโฮจิมินห์ในเดือนมิ.ย.2565 นี้

ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นของเศรษฐกิจโลก EXIM BANK เร่งเสริมสร้างความมั่นใจแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยด้วยการเป็นเกราะป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้ประกอบการมีโอกาสได้รับชำระเงินล่าช้าหรือถูกปฏิเสธการชำระค่าสินค้า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 53,164 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 799 ล้านบาท หรือ 1.52%

ขณะเดียวกัน EXIM BANK ให้ความสำคัญกับการรักษาสถานะทางการเงินที่มั่นคง โดยมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวน 4,307 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ณ สิ้นเดือนมี.ค.2565 เพียง 2.86% แต่มีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น  จำนวน 11,880 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) 275.81% ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1/2565 EXIM BANK มีกำไรสุทธิเท่ากับ 411 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 346.05% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

จากการมุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการไทยทั้งด้านสินเชื่อและบริการประกัน ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2565 EXIM BANK มีจำนวนลูกค้าอยู่ที่ 5,022 ราย เพิ่มขึ้นถึง 16.76% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในจำนวนนี้เป็นลูกค้า SMEs 82.78% ซึ่งด้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจต่าง ๆ แม้แต่ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และต้นทุนโลจิสติกส์สูงขึ้น อาทิ สินเชื่อ EXIM เพื่อซัพพลายเออร์ส่งออก และสินเชื่อ EXIM Logistics ที่ EXIM BANK ดำเนินการร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อลดภาระต้นทุนให้กับผู้ส่งออกและนำเข้า นอกจากนี้ ได้เผยแพร่ข้อมูลและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการผ่านการให้คำปรึกษาและจัดอบรมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2565 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการกว่า 14,200 ราย ด้วยวงเงินรวมประมาณ 76,700 ล้านบาท

“ปี 2565 EXIM BANK ยังคงเดินหน้าขยายบทบาทการเป็น Thailand Development Bank ที่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนของประเทศและเดินเกมเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง โดยมุ่งผลักดันการพัฒนาประเทศในมิติเศรษฐกิจ เชื่อมโยงกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการดำเนินภารกิจ “ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลัง” กับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เป็นฟันเฟืองสำคัญของการพัฒนาประเทศผ่านการสนับสนุนโครงการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG Economy) เพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันของไทยให้ผลิตและส่งออกสินค้า/บริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น พัฒนาภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำตลอดห่วงโซ่อุปทาน  ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่รองรับความต้องการของผู้ประกอบการ เช่น พัฒนาระบบนิเวศของตลาดคาร์บอน สนับสนุนสินเชื่อเพื่อลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา ออกผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่สอดคล้องกับนโยบายการเงินอย่างมีความรับผิดชอบซึ่ง EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐแห่งแรกที่มีนโยบายดังกล่าว ประกอบกับสร้างโอกาสและความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการ SMEs ให้เติบโตในต่างประเทศไปพร้อม ๆ กัน” ดร.รักษ์ กล่าว