ส่อง “ตลาดคริปโทฯ ไทย” ติดตามเกณฑ์กำกับล่าสุด

HoonSmart.com>> “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ชี้กระแสคริปโทฯ โลกแรงไม่หยุด ส่วนในไทย ยังต้องตามติดแนวทางกำกับดูแลของทางการ หลังธปท.ไม่ต้องการเห็นการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการแทนเงินบาท ด้านก.ล.ต. ต้องการให้คริปโทฯ เป็นเพียงทางเลือกในการลงทุน

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กระแสความนิยมลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการในหลากหลายธุรกิจเริ่มเปิดรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยคริปโทเคอร์เรนซีกันมากขึ้น ซึ่งในประเทศไทย บัญชีผู้ลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในเดือน ก.พ. 2565 มีจำนวนสูงถึง 2.59 ล้านบัญชี หรือ เพิ่มขึ้น 5 เท่าจากช่วงเดียวกันของปี 64 โดยผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่หลายราย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีก ก็มีแผนเปิดรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยคริปโทเคอร์เรนซี

แต่เนื่องจากคริปโทเคอร์เรนซียังไม่ถือเป็นเงินตราที่จะสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายของทุกประเทศทั่วโลก (ยกเว้นเอลซาวาดอร์) ผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าและบริการจึงต้องแบกรับความเสี่ยงกันเอง นอกเหนือจากความผันผวนของราคา ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คริปโทเคอร์เรนซียังขาดคุณสมบัติของการเก็บมูลค่าและหน่วยวัดมูลค่าที่ดี

ในส่วนของแบงก์ชาติ มีนโยบายชัดเจนว่าไม่ต้องการเห็นการนำสินทรัพย์ดิจิทัลใดๆ ซึ่งครอบคลุมสกุลเงินดิจิทัลจากภาคเอกชน มาใช้เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการแทนเงินบาทในวงกว้าง (Means of Payment) ขณะที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ก็ต้องการให้คริปโทเคอร์เรนซีเป็นเพียงทางเลือกในการลงทุนเท่านั้น

นั่นหมายความว่า ธุรกิจที่ต้องการเชื่อมโยงสินค้าและบริการของตนเข้ากับโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลคงต้องทบทวนแผนธุรกิจให้เหมาะสมกับทิศทางเชิงนโยบายดังกล่าว

ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล คงต้องจัดทำระบบใหม่เพิ่มเติมเพื่อรองรับกับการรายงานการซื้อขาย แลกเปลี่ยน และการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลธุรกรรมของลูกค้า เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการยื่นภาษีของนักลงทุนประจำปี ตลอดจนระบบการหักภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งคงนำมาสู่เงินลงทุนที่สูงขึ้นกว่าเดิม

“สำหรับนักลงทุน ควรติดตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนจากทางการด้วยเช่นกัน เพราะการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี ย่อมนำมาสู่นวัตกรรมในโลกสินทรัพย์ดิจิทัลและเงินดิจิทัลที่เกิดขึ้นรวดเร็วไม่แพ้กัน ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งฝั่งผู้ใช้งานและฝั่งทางการ ให้ต้องปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลให้เหมาะสมกับปัจจัยแวดล้อมเป็นระยะ ซึ่งอีกไม่นานเกินรอ… เราคงเห็นการทดลองนำเงินดิจิทิลที่พัฒนาโดยแบงก์ชาติมาใช้ในชีวิตประจำวัน”ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ