กองทุนรวม Q1/65 เงินไหลออก 8.7 หมื่นลบ. หนีดอกเบี้ยขาขึ้น

HoonSmart.com>> HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์” เผยไตรมาส 1/65 เงินไหลออกกองทุนรวมกว่า 8.7 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากกองทุนตราสารหนี้กว่า 8.5 หมื่นล้านบาท หนีเฟดขึ้นดอกเบี้ย สงครามรัสเซีย-ยูเครนดันราคาน้ำมันพุ่งหนุนเงินเฟ้อสูง โควิดระบาดในจีน หุ้นทั่วโลกร่วงฉุดกองทุนตราสารทุนมูลค่าลดลง ส่วนกองทุน LTF เงินไหลออก 1.6 หมื่นล้านบาท ประเมินแนวโน้มไตรมาส 2/65 เงินเฟ้อสูงยังกดดันการลงทุน

น.ส.ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมกองทุนรวมในไตรมาส 1/2565 ภาพรวมการลงทุนยังต้องเผชิญกับหลายปัจจัยผันผวน ทั้งการระบาดโควิด-19 แม้โดยรวมทั่วโลกจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น แต่ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาดหุ้นเห็นได้จากการระบาดในประเทศจีนที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงช่วงเวลาหนึ่ง ด้านสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่ยุติส่งผลต่อราคาพลังงานทั่วโลก ทำให้กองทุนน้ำมันมีผลตอบแทนสูงสุดในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อยังพุ่งสูง ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับดอกเบี้ยหลายครั้งเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อ ด้าน Bond yield สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนมี.ค. ทำให้มีแรงขายกองทุนรวมตราสารหนี้มากขึ้น

สำหรับประเทศไทยแม้ว่ายังมีการระบาดของ Omicron ที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันคงอยู่ระดับมากกว่า 2 หมื่นคนตั้งแต่ปลายเดือนก.พ.เป็นต้นมาและยังไม่มีแนวโน้มลดลง แต่ยังไม่ใช่ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในประเทศมากนัก โดยดัชนี SET Index ปิดที่ 1,695.24 จุด SET TR รอบ 3 เดือนอยู่ที่ 3.2%

กองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 4.1 ล้านล้านบาท ทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัวลง 4.2% จากสิ้นปี 2563 โดยหดตัวลงในทุกประเภทกองทุน ยกเว้นกองทุนตราสารตลาดเงิน ในช่วงไตรมาสแรกมีเงินไหลออกสุทธิรวม 8.7 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินไหลออกจากกองทุนตราสารหนี้

“จากทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงได้ส่งผลลบต่อกองทุนตราสารหนี้ โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะยาว ผู้ลงทุนขายกองทุนต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลงไปอยู่ที่ต่ำกว่าระดับ 1.5 ล้านล้านบาท ลดลง 5.7% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นประเภทกองทุนที่มีเงินไหลออกสูงสุดในรอบไตรมาสนี้มูล่า 8.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินไหลออกจากทั้งกองทุนตราสารหนี้ในประเทศและตราสารหนี้ต่างประเทศ ขณะเดียวกันมีเงินไหลเข้ากองทุน Money Market 1.4 หมื่นล้านบาท”น.ส.ชญาณี กล่าว

สำหรับ 5 อันดับกลุ่ม Morningstar Category ที่มีเงินไหลออกมากที่สุด กองทุนตราสารหนี้ Foreign Investment Bond Fix Term มูลค่า 4.33 หมื่นล้านบาท รองลงมากองทุนหุ้นไทย Equity Large-Cap มูลค่า 1.99 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินจากกองทุน LTF ที่ถูกไถ่ถอนออกไปในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้น อันดับสาม กองทุนตราสารหนี้ Mid/Long Term Bond มูลค่า 1.79 หมื่นล้านบาท อันดับสี่ กองทุนตราสารหนี้ Global Bond 1.46 หมื่นล้านบาท อันดับห้า กองทุนตราสารหนี้ Short Term Bond 1.20 หมื่นล้านบาท

ส่วน 5 อันดับที่มีเงินไหลเข้ามากที่สุด ได้แก่ กองทุน Money Market 1.44 หมื่นล้านบาท กองทุนหุ้นโลก 1.21 หมื่นล้านบาท กองทุนหุ้นสหรัฐฯ 7,207 ล้านบาท กองทุนหุ้น Country Focus Equity มูลค่า 7,019 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าเงินลงทุนในกองทุนหุ้นเวียดนามเกือบทั้งหมด โดยในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมามีกองทุนหุ้นเวียดนามเปิดใหม่เพิ่มอย่างต่อเนื่องและในช่วงไตรมาสแรกมีกองทุนเวียดนามเปิดใหม่ 7 กองทุนจาก บลจ. 4 แห่งและยังได้รับความสนใจจากผู้ลงทุน

อันดับห้า กองทุนหุ้นจีนเงินไหลเข้า 5,392 ล้านบาท แม้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงมาก ถูกปัจจัยลบจากทั้งเศรษฐกิจ ประเด็นการเพิกถอนหุ้นจีนจากสหรัฐฯ รวมทั้งสถานการณ์การระบาดโควิดในประเทศ และเป็นกลุ่มกองทุนที่ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบกว่า 15.51% ในไตรมาส 1/2565 แต่นักลงทุนบางส่วนมองเป็นโอกาสในการเข้าลงทุน

ด้านกองทุนรวมตราสารทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.5 ล้านล้านบาท ลดลง 4.8% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วราว 4.7% ในไตรมาสแรกนี้มีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.8 พันล้านบาท โดยยังกระจุกตัวไปที่กองทุนหุ้นต่างประเทศ ในขณะที่กองทุนหุ้นไทยมีแรงขายจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ครบกำหนดถือครอง 7 ปี ถูกไถ่ถอนออกไปในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้น

ขณะที่กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF, RM SSF) โดยรวมยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2564เล็กน้อย และยังไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากนัก จากเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่องในไตรมาสล่าสุดด้วยมูลค่ารวม 3.9 พันล้านบาท

กองทุนเพื่อการออมมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลง 1% จากสิ้นปี 2021 มาอยู่ที่ระดับ 3.9 หมื่นกว่าล้านบาท โดยมีเหตุผลหลักจากผลตอบแทนกองทุนติดลบหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นต่างประเทศ ขณะที่เม็ดเงินลงทุนในไตรมาสแรกไหลเข้าสุทธิ 1.3 พันล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ระดับ 9 ร้อยล้านบาท

กองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 3.5 แสนล้านบาท ลดลง 3.4% จากสิ้นปีก่อน มูลค่าเงินไหลออกสุทธิรอบไตรมาสแรกรวม 1.6 หมื่นล้านบาท กองทุน RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 3.9 แสนล้านบาท ลดลง 1.7% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังสูงกว่าช่วงไตรมาสแรกของปีที่แล้วราว 11.8% โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ลดลงเป็นผลจากทั้งเม็ดเงินไหลออกสุทธิ 1.6 พันล้านบาท และผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบเป็นส่วนใหญ่


ส่วนกองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.1 ล้านล้านบาท ลดลง 8.6% จากสิ้นปีก่อน มีเงินออกสุทธิ 361 ล้านบาท กองทุนตราสารทุนต่างประเทศหลายกลุ่มมีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา แต่นักลงทุนยังคงเข้าลงทุนต่อเนื่อง

ด้านกองทุนยั่งยืนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 6.3 หมื่นล้านบาท ลดลง 8.6% จากสิ้นปีก่อน มีเงินไหลเข้าสุทธิเล็กน้อย ใน 5 อันดับกองทุนยั่งยืนขนาดใหญ่โดยรวมมีมูลค่าทรัพย์สินหดตัวลงจากสิ้นปีก่อน ซึ่งมีส่วนสำคัญมาจากผลตอบแทนติดลบในช่วง 3 เดือน

น.ส.ชญานี ประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมในไตรมาส 2/2565 นี้ มองเงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยสำคัญ หากยังไม่ลดลงส่งผลให้ราคาพลังงานยังสูงและเฟดคงขึ้นดอกเบี้ยเร็ว ส่งผลต่อราคาหุ้นในตลาด ซึ่งปัจจุบันกองทุนรวมลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศจำนวนมากเมื่อราคาลดลงก็ส่งผลต่อมูลค่ากองทุนหดตัวลงได้ รวมทั้งทิศทางดอกเบี้ยปรับขึ้นยังส่งผลต่อตราสารหนี้เช่นกัน จึงยังเป็นปัจจัยกดดันการลงทุนในไตรมาส 2 ส่วนกรณีคลังมีแผนปรับขึ้นภาษีขายหุ้นนั้นมองว่าอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เงินไหลออกจากหุ้นไทย แต่ไม่น่าจะส่งผลลบต่อตลาดอย่างรุนแรง

อ่านข่าว

กองทุน KWI EE EURO เซ่นรัสเซีย ผลตอบแทน Q1/65 ติดลบหนักสุด 45%

กองทุนยั่งยืน Q1/65 มูลค่าลดลง 8.6% ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ