โดย…นางศิษฏศรี นาคะศิริ
ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
เข้าสู่ปีเสือ 2565 ได้เกือบสามเดือนแล้ว เพื่อนสมาชิกบางท่านอาจยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปี 2564 เรียบร้อยแล้ว และวางแผนที่จะมีเงินออมมากขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการ วันนี้มีคำแนะนำดี ๆ สำหรับเพื่อนสมาชิกที่ต้องการออมเงินและลงทุนเพื่อการเกษียณอายุผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (provident fund: PVD) และต้องการประหยัดภาษีที่ต้องจ่ายในแต่ละปีไปพร้อมกัน
เพื่อนสมาชิกหลายท่านคงทราบดีว่าเงินสะสมที่สมาชิกนำส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายเข้ากองทุนจริง และเมื่อรวมกับเงินลงทุนเพื่อการเกษียณประเภทอื่น เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี อีกทั้ง ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเมื่อนำเงินออกจากกองทุนเมื่ออายุครบ 55 ปี และเป็นสมาชิกมาครบ 5 ปีแล้ว อย่างไรก็ดี เพื่อนสมาชิกอาจสงสัยว่าควรวางแผนการออมการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไรดี
ส่งเงินสะสมมากช่วยประหยัดภาษี
สำหรับเพื่อนสมาชิกที่ต้องการเก็บเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณ และไม่ได้ลงทุนในกองทุนประหยัดภาษีประเภทอื่น ควรเลือกส่งเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเต็มจำนวน จะได้นำไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยอัตราเงินสะสมที่สามารถนำส่งเข้ากองทุนจะแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน ซึ่งเพื่อนสมาชิกสามารถสอบถามข้อมูลอัตราเงินสะสมและอัตราเงินสมทบที่จะได้รับจากนายจ้าง รวมถึงเงื่อนไขอื่น ๆ ได้จากคณะกรรมการกองทุนหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของนายจ้างหรือศึกษาได้จากข้อบังคับกองทุน ทั้งนี้ อัตราเงินสะสมและเงินสมทบในข้อบังคับกองทุนจะอยู่ระหว่าง 2-15% ตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ลงทุนยาวและสม่ำเสมอช่วยเพิ่มผลตอบแทน
การเก็บออมเพื่อการเกษียณอายุผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการลงทุนระยะยาว ยิ่งเริ่มส่งเงินเข้ากองทุนเร็วเท่าไร ก็ยิ่งมีเวลาเก็บออมนานขึ้นเท่านั้น ประกอบกับการสะสมเงินอย่างต่อเนื่องทุก ๆ เดือน จะช่วยเพิ่มพูนให้เงินกองทุนงอกเงยจนเป็นเงินก้อนโตที่เราอาจคาดไม่ถึง ตัวอย่างเช่น สมาชิกเริ่มออมตั้งแต่อายุ 20 ปี ได้รับเงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท และเพิ่มขึ้น 2% ทุกปี ขณะที่สมาชิกและนายจ้างส่งเงินเข้ากองทุนฝ่ายละ 10% ตั้งแต่ปีแรก โดยได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 3% เมื่อเวลาผ่านไป 15 ปี จะมีเงินเก็บกว่า 7 แสนบาท หากเก็บเงินต่อเนื่องอีก 5 ปี เงินกองทุนจะเพิ่มเป็นประมาณ 1.1 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.5 เท่า และหากเป็นสมาชิกต่อเนื่องถึง 30 ปี เงินกองทุนจะเพิ่มเป็น 2.2 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่าจาก 15 ปีที่แล้ว เรียกได้ว่าวินัยการเก็บออมที่ต่อเนื่องจะช่วยสร้างผลตอบแทนที่เติบโตสูงขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไปนั่นเอง
เลือกนโยบายการลงทุนเหมาะสมช่วยเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาว
สิ่งสำคัญที่เพื่อนสมาชิกควรตระหนักถึงเมื่อวางแผนเก็บเงินเตรียมพร้อมเพื่อการเกษียณคือ การเลือกนโยบายการลงทุน หากเลือกลงทุนในนโยบายการลงทุนที่มีแต่ความเสี่ยงต่ำเพราะไม่กล้ารับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา อาจต้องแลกกับความเสี่ยงที่จะมีเงินเก็บไม่พอใช้ในยามเกษียณอายุ
ดังนั้น หากคณะกรรมการกองทุนของบริษัทที่เพื่อนสมาชิกทำงานอยู่ จัดให้มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย เพื่อนสมาชิกควรเลือกลงทุนในนโยบายที่เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนและตระหนักถึงโอกาสในการได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาว เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการออมได้ตามแผนที่วางไว้ เช่น เพื่อนสมาชิกในวัยหนุ่มสาวที่ยังมีเวลาเก็บออมระยะยาวอาจเลือกลงทุนในกองทุนตราสารทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนสูงกว่านโยบายประเภทอื่น
โดยข้อมูลปี 2564 พบว่ากองทุนตราสารทุนสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยถึง 18.2% จากปีก่อนหน้า สูงกว่าดัชนีอ้างอิง (SET TRI) ซึ่งอยู่ที่ 17.7% และสูงกว่านโยบายการลงทุนประเภทอื่น อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถรับประกันได้ว่าผลตอบแทนในอนาคตจะเป็นเช่นนั้น เพื่อนสมาชิกจึงไม่ควรใช้เป็นปัจจัยเดียวในการตัดสินใจลงทุน สิ่งสำคัญคือการกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในนโยบายที่หลากหลาย เพราะหากตราสารทางการเงินประเภทอื่นมีผลขาดทุน อาจมีตราสารทางการเงินประเภทอื่นที่มีกำไรมาช่วยชดเชยให้ผลตอบแทนรวมยังดีอยู่หรือไม่เลวร้ายจนเกินไปนัก
กระจายลงทุนทั้งใน-นอกประเทศ
ในการเลือกนโยบายการลงทุน เพื่อนสมาชิกควรพิจารณาเลือกลงทุนให้ครอบคลุมตราสารทางการเงินทั้งในและต่างประเทศ เพราะนอกจากเป็นการเพิ่มทางเลือกในการสร้างผลตอบแทนแล้ว ยังช่วยกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในด้านต่าง ๆ ได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีความไม่แน่นอนและซับซ้อน การลงทุนในตลาดการเงินเพียงแห่งเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการสร้างผลตอบแทนและการบริหารจัดการความเสี่ยง
ทั้งนี้ การลงทุนในต่างประเทศได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ39 กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ โดยมีมูลค่าการลงทุนเติบโตถึง 51% จากปี 2563 ซึ่งเพื่อนสมาชิกสามารถสอบถามรายละเอียดของกองทุนต่างประเทศหรือแจ้งให้คณะกรรมการกองทุนทราบถึงความสนใจที่จะลงทุนในกองทุนต่างประเทศ เพื่อที่คณะกรรมการกองทุนจะได้ประสานกับบริษัทจัดการเพื่อคัดเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมต่อไป
อย่างไรก็ดี หากเพื่อนสมาชิกเลือกลงทุนไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศแล้วพบว่า ผลการดำเนินงานของกองทุนไม่เป็นที่น่าพอใจหรือขาดทุน ก็อย่าตื่นตระหนกตกใจนัก อยากให้เพื่อนสมาชิกนึกถึงเป้าหมายการออมการลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพว่า เป็นเรื่องระยะยาว ความผันผวนในระยะสั้นย่อมเกิดขึ้นเป็นปกติ การลงทุนในนโยบายที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นในระดับความเสี่ยงที่สมาชิกยอมรับได้ ก็อาจนำมาซึ่งผลตอบแทนในระยะยาวที่มากขึ้นได้
สุดท้ายนี้ เพื่อนสมาชิกควรเก็บออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเต็มสิทธิที่ได้รับจากนายจ้าง เพื่อช่วยประหยัดภาษีระหว่างทางในแต่ละปี พร้อมกระจายความเสี่ยงในการลงทุนด้วยการเลือกนโยบายการลงทุนที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศ โดยอาจเลือกลงทุนในนโยบายตราสารทุนเพื่อให้มีเงินใช้เพียงพอยามเกษียณจะได้เป็น “เสือนอนกิน” จากน้ำพักน้ำแรงของตนที่ได้สะสมมาตลอดชีวิตการทำงานหลายสิบปี ไม่กลายเป็น “เสือร้องไห้” ไร้เงินออมยามไร้เรี่ยวแรงแล้ว
เพื่อนสมาชิก ลูกจ้าง และท่านผู้อ่านที่สนใจ สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะได้รับจากการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้ที่นี่ (คลิก) รวมถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ที่เว็บไซต์ www.ThaiPVD.com ซึ่งมีการนำเสนอเนื้อหาในหลากหลายรูปแบบ อาทิ บทความ คลิปและอินโฟกราฟิก โดยมีกูรูทางการเงินที่มีชื่อเสียงมาให้ความรู้ด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายและน่าสนใจ
หมายเหตุ : ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์