GUNKUL ลั่นกำไรทะลุ 635 ล้าน

กันกุล เอ็นจิเนียริ่งมั่นใจกำไรไม่น้อยกว่าปีก่อนที่ 635 ล้านบาท รายได้โตกระฉูด เปิดขายไฟเพิ่ม 2 โครงการ รวม 117.50 เมกะวัตต์ งานรับเหมาฯ-บริษัทที่เพิ่งซื้อมาเติบโต หนุนงานในมือ 800-900 ล้านบาท เตรียมงบ 1,000 ล้านบาท รองรับการลงทุน 3-4 ปี เป้ากำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ปี 63

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจว่าปี 2561 จะมีกำไรไม่ต่ำกว่าปีก่อนที่จำนวน 635.36 ล้านบาท แม้ว่าได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 110 ล้านบาท แต่มีการเติบโตของรายได้ค่อนข้างมาก และเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) 2 แห่ง ได้แก่ โครงการ Greenovatioin Power (GNP) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 67.5 เมกะวัตต์ เริ่ม COD ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. และโครงการ Korat Wind Evergy ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 50 เมกะวัตต์ COD ตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา

นอกจากนั้นบริษัทมีการรับรู้รายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (EPC) จากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 800-900 ล้านบาท และการซื้อกิจการบริษัท ฟิวเจอร์ อีเล็คทริคอล คอนโทรล (FEC) ซึ่งปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) 800-900 ล้านบาท คาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ประมาณ 600 ล้านบาท

ส่วนแนวโน้มการดำเนินงานในปี 2562 คาดว่าบริษัทฯมีกำไรก่อนหักภาษี, ดอกเบี้ย และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ระดับ 2,000 ล้านบาท จากธุรกิจโรงไฟฟ้ามากที่สุด 90% ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและธุรกิจเทรดดิ้ง 10% สัดส่วนที่เหมาะสมของรับเหมาฯและเทรดดิ้งควรอยู่ที่ระดับ 20% ซึ่งมีงานโครงการรองรับมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนเข้าประมูลงานโครงการเคเบิลใต้ดินใน 4 หัวเมืองใหญ่ มูลค่าโครงการรวม 1.6 หมื่นล้านบาท คาดหวังจะได้รับงานอย่างน้อย 4 สัญญา จากทั้งหมด 16 สัญญาจะมีความชัดเจนในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า รวมถึงการเข้าร่วมประมูลโครงการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Micro Grid) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มูลค่ารวมราว4,000-5,000 ล้านบาท คาดหวังว่าจะได้งานราว 30% ของมูลค่าทั้งหมด น่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้

ทางด้านการลงทุนในต่างประเทศ บริษัทร่วมมือกับบริษัทพันธมิตรท้องถิ่น 2 รายเพื่อลงทุนโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในประเทศเวียดนามจำนวน 3 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตราว 20-50 เมกะวัตต์ต่อโครงการ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนเฉลี่ย 40 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ คาดว่าจะสรุปความชัดเจนในการก่อสร้างได้ภายในปีนี้ และยังมีการเจรจากับพันธมิตรท้องถิ่นเพื่อเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศมาเลเซียจำนวน 2 ราย ซึ่งปัจจุบันมีการทำสัญญาซื้อขายไฟ (PPA) 1 ราย คาดก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2562 ขนาดกำลังการผลิต 29 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ ประมาณ 1,000 ล้านบาท

ส่วนแผนการลงทุนในช่วง 3-4 ปี นางสาวโศภชา กล่าวว่า บริษัทวางงบลงทุนจำนวน 5,000-6,000 ล้านบาท/ปี เพื่อขยายกำลังกาผลิตของโรงไฟฟ้าให้ถึง 1,000 เมกะวัตต์ในปี 2563