บล.ทรีนีตี้ คาดหุ้นมี.ค.ขึ้นกับ 4 ปัจจัยหลัก-เชียร์กลุ่มการแพทย์-บริหารหนี้

HoonSmart.com>>บล.ทรีนีตี้ มองทิศทางตลาดหุ้นเดือนมี.ค.เคลื่อนไหวไปตามพัฒนาการจากสถานการณ์ในยูเครน-นโยบานการเงินของเฟด-ทิศทางเศรษฐกิจไทย-หวั่นรัสเซียอาจถูกถอดออกจากดัชนี MSCI EM โดยยังเชียร์กลุ่ม Defensive หุ้นเด่นแนะนำกลุ่มการแพทย์เลือก BDMS, BCH, CHG, IMH และกลุ่มบริหารหนี้ เลือก BAM, JMT, CHAYO พร้อมให้กรอบแกว่งไว้ที่ 1,600-1,740 จุด

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ภาพ SET Index เดือนมีนาคมเคลื่อนไหวไปตามพัฒนาการ 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. ความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์ (Geopolitical risk) จากความชัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน 2. แนวนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) 3. ทิศทางของเศรษฐกิจไทย และ 4. ความเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจถูกถอดออกจากดัชนี MSCI EM

ทั้งนี้ มองกรอบแนวต้านของดัชนีในเดือนนี้ที่ระดับ 1,700 จุด และ1,740 จุด ซึ่งระดับ 1,740 จุดนี้ถือเป็นระดับที่ยืดสุดแล้วตามวิธีคำนวณด้วยโมเดล Earning yield gap ในขณะเดียวกัน มองกรอบแนวรับที่น่าสนใจของดัชนีสำหรับการเพิ่มน้ำหนักที่ระดับ 1,635 จุด และ1,600 จุดตามลำดับ

นายณัฐชาต กล่าวว่า กลุ่มหุ้นแนะนำประจำเดือนนี้ ยังคงเน้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนไปยังกลุ่ม Defensive ที่มี Alpha เฉพาะตัว เหมาะกับการเลือก Selective ในช่วงเวลาที่ Valuation ของดัชนีอยู่ในโซนสูง และยังมีความไม่แน่นอนของปัจจัยรอบด้านอยู่ คือกลุ่มการแพทย์ (Healthcare) และกลุ่มบริหารหนี้ (AMC) ซึ่งในส่วนของกลุ่ม Healthcare นั้น เลือก BDMS, BCH, CHG, IMH และกลุ่ม AMC เลือก BAM, JMT, CHAYO

สำหรับ 4 ปัจจัยใหญ่ที่จะมีอิทธิพลต่อ SET Index ในเดือนนี้ได้แก่ 1. ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risk) ระหว่างรัสเซียและยูเครน ประเมินตราบใดที่ปัจจัยดังกล่าวยังยืดเยื้อและลากยาวออกไป จะเป็นผลบวกทางอ้อมต่อตลาดหุ้นไทยที่จะเห็น Fund flow ไหลเข้าเพื่อหลบภัยในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม หากทั้ง 2 ฝ่ายหาข้อตกลงร่วมกันได้ คาดว่าจะเห็น Fund flow ไหลย้อนกลับไปยังประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวอย่างมากก่อนหน้านี้ เช่น ยุโรป และสหรัฐฯ เป็นต้น

2. แนวนโยบายการเงินของเฟด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการประชุม FOMC ในวันที่ 15-16 มี.ค.นี้ หากในที่ประชุมดังกล่าว เฟด มีมติขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% คาดว่าตลาดหุ้นจะตอบรับเชิงบวกในระยะสั้นได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่อยู่ในราคาไปหมดแล้ว แต่หากเฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.50% เพื่อยับยั้งเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ประเมินจะเป็น Negative surprise ต่อตลาดหุ้นในระยะสั้น ผ่านการปรับสูงขึ้นของอัตราผลตอแทบพันธบัตร (Bond yield) แบบฉับพลัน เนื่องจาก ณ ขณะนี้ตลาด Price in ปัจจัยดังกล่าวไปเพียงแค่ 7% เท่านั้น อย่างไรก็ดี มองประเด็นการขึ้นดอกเบี้ย 0.50% จะมีผลต่อตลาดหุ้นในลักษณะ “เจ็บแล้วจบ” ซึ่งจะถือเป็นเรื่องดีต่อภาพตลาดหุ้นในระยะกลางได้

3. พัฒนาการของเศรษฐกิจไทย ซึ่งส่วนหนึ่งอิงอยู่กับสถานการณ์โควิดในประเทศที่ล่าสุดยังคงเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในระดับสูง มองประเด็นดังกล่าวเมื่อมาประกอบกับแรงส่งของนโยบายภาครัฐที่ลดลง และระดับราคาสินค้าโดยรวมที่อยู่สูง จะส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนทยอยลดลงได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีนักต่อกลุ่ม Domestic consumption โดยรวม สอดคล้องกับดัชนี Mobility ปัจจุบันที่บ่งชี้ว่าคนเริ่มออกมาดำเนินชีวิตและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกบ้านในระดับต่ำอีกครั้ง รวมถึงรายงานของธปท.ล่าสุด ที่เริ่มบ่งชี้ถึงสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัว มองปัจจัยนี้จะมีผลโดยตรงต่อ EPS ของ SET ในช่วงถัดไปได้ โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีก ธนาคาร และกลุ่ม Consumer และมีโอกาสกระทบกับระดับเป้าหมายของ SET

4. ความเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจถูกถอดออกจากการคำนวณดัชนี MSCI Emerging Market (MSCI EM) ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง จะทำให้เห็นเม็ดเงิน Fund flow ไหลเข้าสู่ประเทศ EM อื่นๆได้ ซึ่งไทยเราถือเป็นหนึ่งในนั้น โดยจากการคำนวณของทรีนีตี้ล่าสุดพบว่า หากเกิดกรณีดังกล่าว น้ำหนักหุ้นไทยในดัชนี MSCI EM นี้จะขยับสูงขึ้นจาก 1.85% สู่ระดับ 1.89% คิดเป็นเม็ดเงินไหลเข้าราว 140 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 4,600 ล้านบาท หากอิงกับเม็ดเงินลงทุนที่อิงอยู่กับดัชนี MSCI EM ราว 3.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ