HoonSmart.com>> ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายให้ธนาคารตั้งบริษัทร่วมทุน (JV) กับบริหารบริษัทสินทรัพย์ (AMC) ทำธุรกิจบริหารสินทรัพย์ชั่วคราวไม่เกิน 15 ปี เพื่อจัดการหนี้เสียในระบบที่สูงขึ้นจากไวรัสโควิด-19 แทนการขายแบบ “เหมาเข่ง” เหมือนในอดีต ส่งผลดีต่อหุ้นแบงก์ และ AMC ในระยะยาว เป็นเพราะ…
“สันธิษณ์ วัฒนกุล” รองผู้จัดการใหญ่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ให้สัมภาษณ์ www.HoonSmart.com ว่า นโยบายของธปท.ก่อให้เกิดประโยชน์ มาก ทั้งต่อประเทศชาติ ลูกหนี้ ธนาคาร และบริษัท AMC ภายใต้หลักการของธปท.ประกาศความร่วมมือที่เท่าเทียมกัน หนี้เสียที่โอนออกจากธนาคารเข้าบริษัทร่วมทุนกับ AMC จะต้องเป็นราคายุติธรรม หรือราคาตลาด ที่ยอมรับได้ หากได้ราคาสูงกว่าที่สำรองไว้ ก็เป็นปัจจัยบวกต่อแบงก์ ส่วนหนี้ก็มีการบริหารจัดการ มีการเจรจาให้ชำระหนี้ตามความสามารถ ทุกฝ่ายพยายามให้ลูกหนี้-ธุรกิจกลับมาปกติโดยเร็ว ท่ามกลางแนวโน้มหนี้เสียจะมีมากขึ้น
อย่างไรก็ตามการร่วมทุนทำธุรกิจบริหารหนี้เสียกับธนาคารนั้น AMC มีเงินอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องใช้คน (เจรจาประนอมหนี้) และเทคโนโลยี ซึ่งบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) เบอร์ 1 ของธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPLs) และทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการมาตั้งแต่ปี 2541 ปัจจุบันมีความพร้อมด้านบุคคลากรและโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีพนักงานอยู่ประมาณ 1,300 คน หากไม่เพียงพอ ยังมีพนักงานที่เกษียณอายุในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ประมาณปีละ 30-40 คน ขอให้กลับมาร่วมงานได้
ส่วนเรื่องระบบ และเทคโนโลยี บริษัทฯมีการลงทุนไว้มากแล้ว โครงการพัฒนาเทคโนโลยีจะจบภายในปีนี้ และยังมีเครือข่ายสาขาทั่วประเทศ นอกจากนี้กำลังคิดกลยุทธ์เพิ่มเติมทั้ง online และ offline ด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์ การออกแคมเปญ จัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายเพิ่มขึ้น
“เรามีจุดแข็งเรื่องคนและเทคโนโลยี จากการสั่งสมประสบการณ์ในการบริหาร NPLs และ NPAs มานานมากกว่า 20 ปี หากร่วมทุนกับแบงก์จัดตั้งบริษัทบริหารหนี้เสียได้สำเร็จ จะตั้งหลายแห่งได้ จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งด้านผลการดำเนินงาน เนื่องจากการจัดการ AMC จะมีรายได้สม่ำเสมอจากค่าธรรมเนียม และมีส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วนการถือหุ้น เข้ามาเสริมธุรกิจปกติ โดยมีค่าใช้จ่ายคงที่ หรืออาจจะเพิ่มเล็กน้อย ประสิทธิภาพของคนจะดีขึ้น ช่วยเพิ่มอัตรากำไร บริษัทตั้งใหม่ใช้ทุนจดทะเบียนไม่มาก เราไม่ไม่ต้องลงทุนซื้อหนี้มาบริหาร”สันธิษณ์กล่าว
ส่วนธุรกิจหลัก ในปี 2565 ตั้งเป้าที่จะซื้อหนี้จำนวน 9,000 ล้านบาท ที่ผ่านมาทำได้มากกว่าเป้าหมาย และเก็บเงินสดได้1.5-1.7 หมื่นล้านบาท พร้อมมองเห็นโอกาสจากธุรกิจหนี้ที่ไม่มีหลักประกันด้วย นอกจากนี้ CEO (บัณฑิต อนันตมงคล) พูดเสมอว่า คู่แข่งเป็นพันธมิตรได้
ล่าสุด BAM ร่วมมือกับบริษัทไปรษณีย์ไทย ที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ 10,000 แห่ง และบุคลากรกว่า 20,000 คนเข้าถึงทุกพื้นที่ของประเทศ ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขายให้ดียิ่งขึ้น คาดว่าจะช่วยลดเวลาถึงจุดคุ้มทุนเร็วขึ้นเหลือ 5 ปี จากเดิม 7 ปี ช่วยลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลงราว 6%
ด้านฐานะการเงิน BAM มีหนี้สินประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ณ เดือนก.ย. 2564 จากเมื่อไตรมาสที่ 2 มีการออกเสนอขายหุ้นกู้ จำนวน 12,000 ล้านบาท ปัจจุบันผู้ถือหุ้นได้อนุมัติวงเงินในการออกและเสนอขายหุ้นกู้มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2565-2566 แต่จะออกเมื่อไรจะต้องพิจารณาความต้องการและอัตราดอกเบี้ยประกอบด้วย BAM มีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3% ทั้งเงินกู้และหุ้นกู้ สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำกว่า 2 เท่า สามารถเพิ่มขึ้นเป็น 3.5 เท่า แต่พยายามรักษาให้อยู่ระดับ 2.3-2.5 เท่า เพราะหากสูงจะมีผลต่ออันดับเครดิต
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่แนะนำ”ซื้อ” หุ้น BAM บล.กสิกรไทยให้ราคาเป้าหมาย 24 บาท คาดว่ากำไรในปี 2565 ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งประมาณ 52% เพิ่มเป็น 4,268 ล้านบาท จากปี 2564 ที่ประมาณ 2,814 ล้านบาท จะเป็นตัวเร่งการเติบโตของหุ้น แผนจัดเก็บหนี้ที่ไม่มีหลักประกันและการร่วมทุนกับธนาคารพาณิชย์จะมีแผนที่ชัดเจนขึ้นในช่วงกลางปีนี้
ส่วนผลงานในไตรมาส 4/ 2564 คาดจะรายงานกำไรที่ 794 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและเพิ่มขึ้น 38% จากไตรมาสที่ 3 ได้แรงหนุนจากยอดขาย NPAs ที่แข็งแกร่งขึ้นและการควบคุมต้นทุนที่ดี คาดการลงทุนใน NPLs เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็น 3,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากปีก่อนและเพิ่มขึ้น 379% จากไตรมาสก่อน มากกว่าการลงทุนในช่วง 9 เดือนที่ 1,380 ล้านบาท จากการสิ้นสุดมาตรการบรรเทาหนี้ระยะสั้นของธปท. และอุปทาน NPLs ที่เพิ่มขึ้นจากสถาบันการเงิน
“ประมาณการการลงทุน NPLsในปี 2564 ที่ 4,300 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2565 คาดว่าอุปทานจะเข้าสู่ตลาดหลังจากที่ธนาคารพาณิชย์เริ่มดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จตั้งแต่ต้นปี 2565″บล.กสิกรไทยระบุ
บล.เอเซียพลัส คาดกำไรสุทธิปี 2565 จะฟื้นตัว 19% เป็นประมาณ 3,158 ล้านบาท จากระดับ 2,657 ล้านบาทในปี 2564 จากแนวโน้มการจัดเก็บเงินสดเพิ่มขึ้น กลยุทธ์เน้นการขาย NPAs และ NPLs ในทุกช่องทาง โดยเฉพาะออนไลน์ แม้แนวโน้มกำไรไตรมาส 1 จะอ่อนตัวลงจากไตรมาส 4/2564 ตามช่วงโลว์ซีซั่น แต่ฟื้นตัวชัดเจนจากปีก่อน และไตรมาสที่ 2 ราคาหุ้นปัจจุบันมีค่า PBV ที่ 1.6 เท่า มีส่วนลดย้อนหลังตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์อยู่ 0.7SD จึงยังแนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 24 บาท