มอร์นิ่งสตาร์ฯ เผยแรงขาย LTF ครึ่งเดือนแรกม.ค.65 พุ่ง 6 พันลบ.

HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช” เผยนักลงทุนขายกองทุน LTF ช่วงครึ่งเดือนแรก ม.ค.65 พุ่ง 6 พันล้านบาท จากยอดขายได้ 2.2 หมื่นล้านบาท หลังถือลงทุนครบ 7 ปี คาดทั้งเดือนมีโอกาสแตะ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนภาพรวมปี 64 เงินไหลออกสุทธิ 1.9 หมื่นล้านบาท ด้านกองทุน RMF เงินไหลเข้าไตรมาส 4/64 พุ่งกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท หนุนทั้งปีโต 3.7 หมื่นล้านบาท ส่วน SSF ไหลเข้าเฉพาะเดือนธ.ค. กว่า 8.5 พันล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนหุ้นต่างประเทศ

น.ส.ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนม.ค.2565 นักลงทุนขายกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ออกมาแล้วประมาณ 6 พันล้านบาท จากยอดทั้งหมดที่สามารถขายคืนได้ 2.2 หมื่นล้านบาท ที่เป็นเงินลงทุนจากปี 2559 ถือครอง 7 ปีปฏิทินตามเงื่อนไข ซึ่งถือว่าปีนี้มีเงินไหลออกจากกองทุน LTF เร็วกว่าในอดีต เมื่อเทียบเดือนม.ค.2562 และม.ค.2561 เงินไหลออกสุทธิจากกองทุน LTF ประมาณ 2 พันล้านบาท ในขณะที่ปี 2563 และ 2564 ไม่มีกองทุน LTF ครบกำหนดขายออก จึงประเมินเม็ดเงินไหลออกจาก LTF มีโอกาสถึง 1 หมื่นล้านบาท ในเดือนม.ค.นี้

“เงินไหลออกจากกองทุน LTF ส่งผลต่ออุตสาหกรรมกองทุนรวมไม่ได้มาก เพราะภาพรวมอุตสาหกรรมมีเงินไหลเข้าในหลากหลายกองทุนค่อนข้างมาก ซึ่งมองว่าเงินไหลออกจากกองทุน LTF แล้วอาจกลับเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือกองทุนรวมเพื่อการออมระยะยาว (SSF) ก็ได้ เพราะหากขายออกไปแล้วในภาวะเงินเฟ้อ ถือเงินสดไว้จึงไม่ใช่คำตอบสำหรับคนที่อยากได้ผลตอบแทนระยะยาว”น.ส.ชญานี กล่าว

สำหรับกองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.6 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 ปรับตัวสูงขึ้น 5.3% จากสิ้นปี 2563 ตามทิศทางตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยมีเงินไหลออกสุทธิเร่งตัวขึ้นในไตรมาสสุดท้ายที่ 5.3 พันล้านบาท รวมทั้งปีไหลออกสุทธิ 1.9 หมื่นล้านบาท

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ไม่มีการขายกองทุน LTF เพื่อประโยชน์ทางภาษี จึงมีทิศทางเงินไหลออกต่อเนื่อง รวม 2 ปี 3.4 หมื่นล้านบาท และปี 2565 มีเงินลงทุนครบกำหนดขายได้ตามเงื่อนไขถือครอง 7 ปีปฏิทิน จึงเป็นส่วนให้กองทุน LTF จะมีเงินไหลออกสูงขึ้นในปีนี้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผลตอบแทนจากการลงทุนของแต่ละกองทุน

ด้านกองทุน RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 4.0 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 เพิ่มขึ้น 10.7% จากไตรมาสก่อนหน้า หรือสูงกว่าสิ้นปี 2563 ถึง 20.5% ในไตรมาสสุดท้ายยังคงมีเม็ดเงินไหลเข้าสูงเช่นทุกปีด้วยมูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาท รวมทั้งปี 3.7 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปี 2563 ที่ 3.6 หมื่นล้านบาท

จากปริมาณเงินไหลเข้ากองทุน RMF ทั้งปีที่ 3.7 หมื่นล้านบาท เป็นเงินจากกองทุน RMF – Equity ถึง 87% ของเม็ดเงินดังกล่าว โดยเป็นปีแรกที่มีเงินไหลเข้ากองทุน RMF Equity มากกว่า 3 หมื่นล้านบาท เกิดจากเงินเข้าลงทุนในกองทุนต่างประเทศทั้งหมด นำโดยกลุ่ม Global Equity 1.1 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยกองทุนหุ้นจีน 9.0 พันล้านบาท และกองทุนหุ้นเทคโนโลยี 4.3 พันล้านบาท

ด้านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย มีเม็ดเงินไหลเข้ากองทุน RMF สูงสุดในรอบปีรวม 8.7 พันล้านบาท ตามมาด้วยบลจ.บัวหลวง 8.2 พันล้านบาท และบลจ.กรุงศรี 5.5 พันล้านบาท ซึ่งทั้ง 3 แห่งเป็นบลจ.รายใหญ่ในตลาดกองทุน RMF ทำให้ส่วนแบ่งตลาดนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม รวม 5 บลจ.แรกมีส่วนแบ่งตลาดกองทุน RMF รวม 81%

ส่วนกองทุนเพื่อการออม (SSF) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเกือบ 4 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 เพิ่มขึ้น 42.0% จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากเป็นช่วงที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดของปี ทำให้มีเงินไหลเข้าในไตรมาส 4/64 จำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท รวมทั้งปี 1.5 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินไหลเข้าในเดือนธ.ค.จำนวน 8.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 56% ของทั้งปี

กองทุนกลุ่ม Equity Large-Cap มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.8% จากสิ้นปี 2563 คิดเป็น 31.2% ของตลาดกองทุนเพื่อการออมทั้งหมด ในไตรมาสสุดท้ายมีเงินไหลเข้าสุทธิเกือบ 2 พันล้านบาท รวมทั้งปีไหลเข้าสุทธิ 2.7 พันล้านบาท ในจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่งไหลเข้ากองทุนของ บลจ.ไทยพาณิชย์ กองทุน SCB Dividend Stock 70/30 Long Term Equity SSF มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดในรอบปีรวม 700 ล้านบาท

กองทุน SSF ที่เป็นการลงทุนต่างประเทศมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าการลงทุนในประเทศอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกองทุนหุ้นกลุ่ม Global Equity มูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้น 146% จากสิ้นปีที่แล้วไปอยู่ที่เกือบ 1 หมื่นล้านบาท โดยเกิดจากปริมาณเงินไหลเข้า 4.1 พันล้านบาทในรอบไตรมาสสุดท้าย รวมสะสมทั้งปี 5.5 พันล้านบาท โดยเป็นเงินไหลเข้ากองทุน K Positive Change Equity – SSF เป็นหลักด้วยมูลค่ารวมมากกว่า 2 พันล้านบาท ทำให้กองทุนนี้มีมูลค่ารวม 4.0 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของกลุ่ม หรือ 10% ของมูลค่าทั้งหมดของกองทุน SSF-SSFX

แม้ในปีที่ผ่านมานี้กองทุนหุ้นจีนจะมีผลตอบแทนติดลบแต่ยังสามารถดึงเม็ดเงินไหลเข้าเพื่อการลงทุนในระยะยาวได้ โดยไตรมาสสุดท้ายมีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.1 พันล้านบาท รวมทั้งปี 1.9 พันล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 2.4 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 3 เท่าจากปี 2563

อ่านข่าว

ปี 64 เงินไหลเข้ากองทุนรวม 2 แสนลบ. – “กองหุ้นโลก-จีน” ยอดนิยม