ปี 64 เงินไหลเข้ากองทุนรวม 2 แสนลบ. – “กองหุ้นโลก-จีน” ยอดนิยม

HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์ฯ” เผยเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนรวมรอบปี 64 มูลค่า 2 แสนล้านบาท “กองทุนหุ้นโลก” ทะลัก 9.4 หมื่นล้านบาท รองลงมากองทุนหุ้นจีน 8.4 หมื่นล้านบาท ฟากกองทุน “มันนี่ มาร์เก็ต” เงินไหลออก 1 แสนล้านบาท โยกลงทุนเพิ่มผลตอบแทน ด้าน “กองทุนน้ำมัน” ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุด 65.9% ส่วน “กองทุนหุ้นจีน” ผลตอบแทนติดลบมากสุด -12.85% เซ่นรัฐคุมเข้มธุรกิจ ด้านกองทุนหุ้นไทยเงินไหลออกต่อเนื่อง 8 ไตรมาส คาดเก็บภาษีหุ้นกระทบกองทุนหุ้นไทยทางอ้อมดึงความน่าสนใจลงทุนน้อยลง

น.ส.ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในรอบปี 2564 ที่ผ่านมา มีเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนรวมมูลค่า 2.0 แสนล้านบาท โดยมีเงินไหลเข้าจากกองทุนตราสารทุนต่างประเทศเป็นหลัก สูงสุดในกองทุนหุ้นทั่วโลก (Global Equity) มูลค่า 9.4 หมื่นล้านบาท รองลงมากองทุนหุ้นจีน (China Equity) มูลค่า 8.4 หมื่นล้านบาท ในขณะที่กองทุนหุ้นไทย Equity Large-Cap มีเงินไหลออกต่อเนื่องตลอดทั้งปี 3.1 หมื่นล้านบาท ด้านเม็ดเงินไหลออกมีส่วนมาจากกองทุนตราสารตลาดเงิน (Money Market) มีเงินไหลออกสุทธิ 1.1 แสนล้านบาท

สำหรับการเติบโตของกองทุนรวมไทย (รวมมูลค่ากองทุนประเภทต่าง ๆ ทั้งกองทุนเปิด กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ อีทีเอฟ กองรีท เป็นต้น) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 5.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6% จากสิ้นปี 2563 กองทุนรวมตราสารทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสูงสุด 1.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 38% ของอุตสาหกรรมและกองทุนตราสารหนี้ยังเป็นกลุ่มหลักของอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน

ด้านกองทุนรวมตราสารทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4% จากไตรมาสก่อนหน้า และ 26.7% จากสิ้นปี 2563 โดยเกิดจากเงินไหลเข้าสุทธิไตรมาสล่าสุด 6.2 หมื่นล้านบาท รวมทั้งปีสูงถึง 2.6 แสนล้านบาท

“ในรอบปี 2564 ที่ผ่านมาถือว่าเป็นช่วงที่ไม่ดีนักสำหรับกองทุนตราสารหนี้ หลายกลุ่มกองทุนมีผลตอบแทนเฉลี่ยต่ำสุดในรอบหลายปีจากแนวโน้มดอกเบี้ยที่เปลี่ยนไปจากในอดีต จึงทำให้กองทุนตราสารหนี้มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.6 ล้านล้านบาท หดตัวจากทั้งไตรมาสที่ 3 ที่ -1.1% แต่ยังสูงกว่าปี 2563 ราว 3.0% คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดที่ 37% ในรอบไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลออกสุทธิ 1.0 หมื่นล้านบาท แต่รวมทั้งปียังคงเป็นทิศทางเงินไหลเข้าสุทธิ 4.4 หมื่นล้านบาท”น.ส.ชญานี กล่าว

กองทุน Money Market หลังจากมีเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่อง 5 ไตรมาส กลับมามีทิศทางเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ 1.7 หมื่นล้านบาทในไตรมาสที่ผ่านมา รวมรอบปี 2564 เป็นเงินไหลออก 1.1 แสนล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 6.5 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15.4% ของอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย

ส่วนกองทุนกลุ่ม Commodities มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.1 หมื่นล้านบาท มีเงินไหลเข้าสุทธิหลักร้อยล้านบาทในไตรมาสล่าสุด โดยกองทุนทองคำและน้ำมันมีผลการดำเนินงานในทิศทางตรงกันข้ามคือ กองทุนน้ำมันมีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดในรอบปี ขณะที่กองทุนทองคำมีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบมากที่สุดเป็นอันดับ 6 อย่างไรก็ดีในรอบปีทั้งกองทุน 2 กลุ่มกองทุนต่างมีเงินไหลออกสุทธิในระดับใกล้เคียงกัน รวมกันเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 4.7 พันล้านบาท

ด้านกลุ่มกองทุนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุดตาม Morningstar Category ได้แก่ กองทุน Money Market มูลค่าทรัพย์สินสูงสุด 6.5 แสนล้านบาท ลดลง 13.9% จากปี 2563 จากทั้งปีเงินไหลออกสุทธิระดับ 1 แสนล้านบาท กลุ่มกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ Equity Large-Cap มีมูลค่าทรัพย์สินเป็นอันดับ 2 ที่ 6.4 แสนล้านบาท โดยมีเงินไหลออกสุทธิ 700 กว่าล้านบาทในไตรมาสสุดท้าย รวมทั้งปียังมีเงินไหลออกสุทธิมากที่สุดอันดับ 2 รวม 3.2 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันกองทุนหุ้น Equity Small/Mid-Cap ที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยสะสมสูงถึง 27.4% ในปีนี้ก็มีเงินไหลออกเกือบทั้งปีเช่นกัน โดยมีเงินไหลออกสุทธิไตรมาสสุดท้าย 515 ล้านบาท สะสมทั้งปีไหลออกสุทธิสูงเป็นอันดับ 6 รวม 4.8 พันล้านบาท


กองทุนตราสารทุนต่างประเทศหลายกลุ่มยังคงมีเงินไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง นำโดยกลุ่ม Global Equity ที่มีเงินไหลเข้าสูงเป็นอันดับต้น ๆ ตลอดทั้งปี ทำให้มูลค่าทรัพย์สินโด 92.0% จากปี 2563 ด้านกองทุนหุ้นจีนที่แม้จะมีข่าวเชิงลบทำให้เงินไหลเข้าชะลอตัวในบางช่วง แต่โดยรวมยังเป็นเงินไหลเข้าทั้งปีเช่นกัน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 1.7 แสนล้านบาท เติบโต 45.8% จากปี 2563

น.ส.ชญานี กล่าวว่า ความนิยมการลงทุนต่างประเทศทำให้มูลค่าการลงทุนกองทุนรวมตราสารทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 7.9 แสนล้านบาท สูงกว่าตราสารทุนไทยที่ 7.4 แสนล้านบาท โดยการลงทุนต่างประเทศมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงปลายปี 2563 และชะลอลงในช่วงกลางปี 2564 ในขณะที่กองทุนตราสารทุนไทยค่อนข้างทรงตัวและหรือหดตัวลงในบางช่วง


ด้านบลจ.กสิกรไทย มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดในรอบปีที่ผ่านมา มูลค่ารวมราว 4 หมื่นล้านบาท ในไตรมาสสุดท้ายมีเงินไหลเข้า 7.3 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินจากกองทุน RMF และ SSF บลจ.เกียรตินาคินภัทร มีเงินไหลเข้าสูงเป็นอันดับ 2 ของรอบปีด้วยมูลค่า 3.7 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินไหลเข้ากองทุน KKP Fixed Income Plus 2.6 หมื่นล้านบาท บลจ.กรุงศรีมีเงินไหลเข้าสูงเป็นอันดับ 3 รวม 3.6 หมื่นล้านบาท โดยมีกองทุน Krungsri Smart Fixed Income ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด 2.8 หมื่นล้านบาท

บลจ.ไทยพาณิชย์และบลจ.บัวหลวงมีเงินไหลเข้าสุทธิในช่วงไตรมาสสุดท้ายจากฤดูกาลลงทุนกองทุนประหยัดภาษีแต่หากดูในรอบปียังคงเป็น 2 บลจ.ที่มีเงินไหลออกมากที่สุดรวมมูลค่า 2.4 หมื่นล้านบาทและ 1.1 หมื่นล้านบาทตามลำดับ

กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF RMF SSF) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 2.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% จากไตรมาสที่ 3 และสูงกว่าสิ้นปี 2563 3.7% จากการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทยโดย SET TR รอบปี 2564 อยู่ที่ 17.7% ทำให้มีเม็ดเงินไหลออกตลอดทั้งปี

กองทุนหุ้นไทยที่ไม่รวมกองทุนประหยัดภาษียังคงมีเงินไหลออกต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 8 ติดต่อกัน โดยในไตรมาสล่าสุดที่ 1.2 พันล้านบาท เกือบทั้งหมดเป็นเงินจากกลุ่มกองทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็ก จากที่กองทุนหุ้นกลุ่มนี้มีผลตอบแทนค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยที่ 27.8% กองทุน Talis Mid-Small Cap Equity เป็นกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดของปีนี้ที่ 74.0% รวมเม็ดเงินรอบปี 2564 มีเงินไหลออกจากกองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF RMF SSF) ทั้งหมด 1.9 หมื่นล้านบาท

น.ส.ชญานี กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่ทางการเตรียมเก็บภาษีหุ้นนั้น คาดว่าจะกระทบต่อกองทุนหุ้นไทยในทางอ้อมและอาจทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนของนักลงทุนน้อยลง จากปัจจุบันที่นักลงทุนไทยให้ความสนใจออกไปลงทุนกองทุนหุ้นต่างประเทศจำนวนมาก เนื่องจากมีธุรกิจและการลงทุนที่หลากหลายกว่าหุ้นไทย

ด้านผลตอบแทนกองทุนรวมในปี 2564 กองทุนกลุ่ม Commodities Energy มีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 65.9% ตามทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีกองทุนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงและควาผันผวนสูงทำให้ในบางปีอาจมีผลตอบแทนติดลบได้มากเช่นในปี 2563 ที่มีผลตอบแทนแย่ที่สุดของปีอยู่ที่ -35.2% รองลงมากองทุนหุ้นไทยขนาดกลางและเล็ก 27.40% อันดับสาม กองทุนหุ้นอินเดีย 26.23% อันดับสี่ กองทุนหุ้นยุโรป 25.52% เป็นต้น

ขณะเดียวกันกองทุนหุ้นจีนมีผลตอบแทนเฉลี่ยต่ำสุดในรอบปีที่ -12.9% ซึ่งเป็นผลจากออกกฎเกณฑ์ของทางการจีนในช่วงกลางปี ส่งผลต่อ sentiment การลงทุนหุ้นจีนโดยรวม ทำให้ตลาดกังวลว่าจะมีอุตสาหกรรมใดของหุ้นจีนต้องเผชิญมาตรการที่อาจจะออกมาอีกหรือไม่ แม้ว่าในไตรมาสสุดท้ายจะมีหลายกองทุนให้ผลตอบแทนเป็นบวก แต่โดยเฉลี่ยยังติดลบในไตรมาสสุดท้ายที่ -3.2%

น.ส.ชญานี กล่าวว่า ด้านกองทุนหุ้นเวียดนามในปีที่ผ่านมาสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยตามดัชนี Vietnam VN Index อยู่ที่ 35.73% ซึ่งอยู่ในระดับสูงและได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก จากศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจและตลาดหุ้น มอร์นิ่งสตาร์ฯ จึงเตรียมจัดกลุ่มกองทุนหุ้นเวียดนามเพิ่มในเดือนเม.ย.นี้

อ่านข่าว

มอร์นิ่งสตาร์ฯ เผยแรงขาย LTF ครึ่งเดือนแรกม.ค.65 พุ่ง 6 พันลบ.