LPN คาดอสังหาฯ ปี 64 หดตัว 20% ปีนี้โต 5-20%

HoonSmart.com>>“ลุมพินี วิสดอม” เครือ แอลพีเอ็นฯรายงานปี 64  โครงการใหม่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลเปิดตัวลดลง 20%เทียบปี 63 แบ่งเป็นบ้านแนวราบ 34,921 หน่วย ลดลง 20.63% มูลค่า 172,825 ล้านบาท ลดลง 15.93%   แต่ราคาเพิ่มขึ้น 5.78% เฉลี่ยอยู่ที่ 4.94 ล้านบาท อาคารชุดพักอาศัยเปิดใหม่ 20,942 หน่วย ลดลง 20%  มูลค่าเพิ่มขึ้น 31% เป็น 92,732 ล้านบาท ราคาขายเฉลี่ย 4.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63% จากการเปิดตัวโครงการระดับพรีเมี่ยมของบางบริษัท  ส่วนปีนี้จะโต 5-20% ขึ้นอยู่กับโอมิครอน มาตรการกระตุ้นภาครัฐ 

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บริษัท แอล.พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) สรุปผลสำรวจการเปิดตัวโครงการใหม่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลว่า ในปี 2564 มีการเปิดตัวโครงการใหม่ทั้งสิ้น 55,863 หน่วย ลดลง 20% คิดเป็นมูลค่า 265,558 ล้านบาท ลดลง 4% เมื่อเทียบกับปี 2563 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 นับจากปี 2562 ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัว

สำหรับการเปิดตัวโครงการใหม่ปี 2564 เป็นโครงการบ้านพักอาศัยแนวราบ จำนวน 34,921 หน่วย ลดลง 20.63% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีโครงการใหม่  55,863 หน่วย หากคิดเป็นมูลค่าจำนวน 172,825 ล้านบาท ลดลง 15.93% ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 4.94 ล้านบาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้น 5.78% เมื่อเทียบกับเฉลี่ยที่ 4.67 ล้านบาท เป็นผลจากราคาที่ดินและราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้น

ส่วนโครงการอาคารชุดพักอาศัยเปิดใหม่ 20,942 หน่วย ลดลง 20% คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้น 31% เป็น  92,732 ล้านบาท ราคาขายเฉลี่ย 4.42 ล้านบาทต่อหน่วย  เพิ่มขึ้น 63% เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ย 2.71 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการเปิดตัวโครงการระดับพรีเมี่ยมของค่ายบริษัทอสังหาริมทรัพย์บางแห่ง

ขณะเดียวกันการเปิดโครงการใหม่ ขายได้ในอัตราการเฉลี่ย  17% จากจำนวนหน่วยที่เปิดขายทั้งหมด ลดลงจากปี 2563 ที่มีอัตราการขายเฉลี่ยอยู่ที่ 18%

“การแพร่ระบาดของโควิด ผลส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นใจรายได้ในอนาคตและการตัดสินใจซื้อ ทำให้ผู้ประกอบการ ต้องชะลอและเลื่อนแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วง 9 เดือน ก่อนที่จะทะยอยเปิดตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว

ส่วนแนวโน้มของตลาดอสังหาฯ ในปี 2565  ทีมวิจัย “ลุมพินี วิสดอม” ได้มีการปรับลดคาดการณ์จากเดิมที่คาดไว้เมื่อปลายปี 2564 ว่าตลาดอสังหาฯ มีแนวโน้มเติบโต 15-20% มาอยู่ที่ 5-20%  เพราะการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2565 จะส่งผลกระทบต่อภาวะการค้าการลงทุน และห่วงโซ่อุปทาน(Supply Chain) ทั่วโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก

ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ในปี 2565 แบ่งเป็น 3 ความเป็นไปได้ (3-Scenarios)

– Base Case เป็นกรณีที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้ภายในไตรมาส 1 การส่งออกเติบโตได้ 5-8% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน เศรษฐกิจโลกเติบโตที่อัตรา 3.6% ตามการคาดการณ์ของธนาคารโลก และเศรษฐกิจไทยเติบโตที่ 3.6-4% ตลาดอสังหาฯ ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล มีแนวโน้มที่จะเติบโตในอัตรา 10-20% โดยคาดว่าจะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ 78,000-84,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 292,000-318,000 ล้านบาท

-Worse Case เป็นกรณีที่สามารถควบคุมโควิดได้ในครึ่งปีแรก เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า 3% ส่งออกเติบโตต่ำกว่า 5% นักท่องเที่ยวน้อยกว่า 5 ล้านคน และ เศรษฐกิจโลกเติบโตน้อยกว่า 3.6% ตลาดอสังหาฯ จะเติบโต 5-10%  ผู้ประกอบการจะชะลอแผนเปิดตัวโครงการใหม่ในครึ่งปีแรก มาอยู่ในครึ่งหลังของปี ทำให้ การเปิดตัวโครงการใหม่อยู่ที่ 66,000-78,000 หน่วย มูลค่าประมาณ 278,000-292,000 ล้านบาท

-Worst Case เป็นกรณีที่สามารถควบคุมโควิดในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตน้อยกว่า 2%  ภาคอสังหาฯเติบโตเพียง 3-5%  คาดว่าจะมีโครงการเปิดตัวใหม่ 60,000-66,000 หน่วย มูลค่าประมาณ 273,000-278,000 ล้านบาท

“ตลาดอสังหาฯ ปี 2565 นอกจากจะเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากโควิดแล้ว ยังต้องเผชิญกับภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงแตะระดับ 90% ของ GDP และความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ต้องปรับตัว และวางกลยุทธ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อและเพิ่มยอดขายอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ซื้อที่จะได้ราคาที่เหมาะสม” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว