คลุกวงในหุ้น : “เอเชีย เวลท์” ฮึดสู้ค่าปรับ 5 ล้าน

โดย…สุนันท์ ศรีจันทรา

บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด โบรกเกอร์เบอร์ 43 เตรียมยื่นประท้วงคำสั่งปรับวงเงิน 5.85 ล้านบาท ในความผิดทางวินัย ฐานปล่อยปละละเลยให้ลูกค้าต่างประเทศ ส่งคำสั่งขายหุ้น โดยไม่มีหุ้นในความครอบครอง

การลงโทษบริษัทหลักทรัพย์ มักจะเกิดขึ้น ภายใต้อำนาจของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แต่กรณีของบล. เอเชีย เวลท์ จำกัด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กลับเป็นผู้ใช้อำนาจสั่งปรับ โดยถือเป็นการลงโทษทางวินัย เนื่องจากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์

แต่คำสั่งลงโทษ กำลังถูกอุทธรณ์ โดยบล.เอเชีย เวลท์ เตรียมยื่นประท้วงขอความเป็นธรรม อ้างว่า คณะกรรมการพิจารณาโทษทางวินัยของตลาดหลักทรัพย์ ส่วนใหญ่เป็นตัวแทนของบริษัทโบรกเกอร์ที่มีส่วนได้เสีย และบางคนเป็นผู้บริหารโบรกเกอร์ต่างชาติ ซึ่งมีการขายช็อตเซลล์โดยไม่มีหุ้นในความครอบครองเหมือนกัน

และหลังจากลงโทษแล้ว ปรากฏว่า คำสั่งซื้อขายหุ้นลูกค้าต่างชาติของบล. เอเชีย เวลท์ ได้ไหลไปส่งผ่านโบรกเกอร์ต่างชาติบางแห่ง จนมูลค่าซื้อขายเพิ่มขึ้น

บล.เอเชียเวลท์ เกิดจากการร่วมลงทุนของกลุ่มนักธุรกิจ รวมทั้ง ดร.พิชิต อัคราทิตย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โดยซื้อกิจการจากบล.ซีไอเอ็มบี-จีที และใช้เวลาประมาณ 5 ปี สามารถก้าวขึ้นมาเป็นโบรกเกอร์ ที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุด ติดอันดับ 1 ใน 5 จึงถือว่าไม่ธรรมดา

ก่อนหน้า โบรกเกอร์แห่งนี้ เคยตกเป็นข่าวฉาวโฉ่ เนื่องจาก 2 ผู้บริหาร ประกอบด้วย นางสาวชญานี โปขันเงิน และนายชยันต์ อัคราทิตย์ น้องชายดร.พิชิต ถูกก.ล.ต.กล่าวโทษ ฐานปกปิดหรือบิดเบือนข้อมูลที่แจ้งก.ล.ต. ช่วยเหลือผู้กระทำผิด การใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้นบริษัทหลักทรัพย์ บีฟิท จำกัด ถูกพักใบอนุญาตการเป็นบุคคลากรในธุรกิจตลาดทุน 1 ปี

ต่อมาผู้บริหารบล.เอเชีย เวลท์ ทั้ง 2 คน ได้ยื่นฟ้อง นายระพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. ในความผิดตามมาตรา 157 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

การถูกลงโทษปรับ ฐานปล่อยให้ลูกค้าต่างชาติ ขายหุ้นโดยไม่มีหุ้นอยู่ในมือ เป็นข่าวฉาวโฉ่ครั้งที่ 2 และส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ โบรกเกอร์แห่งนี้ซ้ำเติม

เพราะถ้าปล่อยให้ลูกค้าต่างชาติ ขายหุ้นโดยไม่มีหุ้นจริง ถือเป็นการแหกกฎตลาดหลักทรัพย์ และเป็นการเอารัดเอาเปรียบนักลงทุนทั่วไป เพียงเพื่อให้มีรายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหุ้นเท่านั้น

ถ้าโบรกเกอร์อื่น ประพฤติปฏิบัติเช่นเดียวกับ บล.เอเชีย เวลท์ ธุรกิจหลักทรัพย์จะวุ่นวาย ไร้กติกาหนักขึ้นไปอีก

การอุทธรณ์คำตัดสิน การเรียกร้องความเป็นธรรม เป็นสิทธิของบล.เอเชีย เวลท์ โดยเฉพาะประเด็นการเลือกปฏิบัติ จากคณะกรรมการพิจารณาทางวินัยของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากบริษัทโบรกเกอร์เป็นส่วนใหญ่ และถือเป็นคู่แข่งทางธุรกิจของเอเชีย เวลท์ทั้งสิ้น

เพราะเมื่อโบรกเกอร์อื่น ปล่อยให้ลูกค้าต่างชาติขายหุ้น โดยไม่มีหุ้นอยู่ในมือ จะต้องถูกลงโทษในลักษณะเดียวกันกับ บล.เอเชีย เวลท์ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์จะต้องตรวจสอบ และถ้าพบความผิดจริง จะต้องสั่งลงโทษในมาตรฐานเดียวกัน

แต่บล.เอเชีย เวลท์ ต้องให้คำตอบสังคมว่า ได้กระทำความผิดตามที่ถูกล่าวหาจริงหรือไม่ ถ้าทำผิดจริง ต้องก้มหน้ารับบทลงโทษ จ่ายเงินค่าปรับ 5.85 ล้านบาท ไป

ส่วนโบรกเกอร์อื่น ที่บล.เอเชีย เวลท์ ระบุว่า ทำผิดในลักษณะเดียวกัน ต้องแจ้งเบาะแสให้ตลาดหลักทรัพย์ตรวจสอบ เพื่อเป็นข้อมูลหลักฐานของการกระทำความผิด จะกล่าวอ้างลอยไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นเพียงคำแก้ตัวเท่านั้น

การช็อตเซลล์ ขายหุ้นโดยไม่มีหุ้นอยู่ในมือ เป็นปัญหาที่พูดกันมานานแล้ว การลงโทษปรับบล.เอเชีย เวลท์ เป็นหลักฐานยืนยันว่า ช็อตเซลล์ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เอาเปรียบนักลงทุนทั่วไปนั้น มีอยู่จริง

แต่จะมีเพียงบล.เอเชีย เวลท์ เท่านั้นหรือ ที่เปิดทางให้ลูกค้าฝรั่งทำช็อตเซลล์