HoonSmart.com>> ดาวโจนส์ปิดลบ 170 จุด นักลงทุนยังวิตกเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย บอนด์ยีลด์พุ่ง ขายหุ้นเทคโนโลยีต่อเนื่อง หุ้นกลุ่มพลังงานหนุนตลาดหลังราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 2% ด้านตลาดหุ้นยุโรปร่วง
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 6 มกราคม 2565 ปิดที่ 36,236.47 จุด ลดลง 170.64 จุด หรือ 0.47% แม้มีแรงซื้อเพื่อดันตลาดให้ขึ้นจากที่ร่วงลงไปในวันก่อน เพราะนักลงทุนยังกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง (เฟด)
ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 4,696.05 จุด ลดลง 4.53 จุด, -0.10%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,080.86 จุด ลดลง 19.31 จุด, -0.13%
หุ้นเทคโนโลยียังอ่อนตัวต่อ จากแรงขายในหุ้นที่มีมูลค่าสูง เทสลาและเน็ตฟลิกซ์ต่างลดลงกว่า 2% หุ้นแอปเปิลลดลง 1.6% หุ้นแอมะซอนลดลง 0.6% หุ้นอัลฟาเบทลดลง 0.1% แต่หุ้นเมต้าแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น 2.5%
หุ้นที่อ่อนไหวกับอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นหลังจากรายงานการประชุมเดือนธันวาคมของเฟดที่แสดงให้เห็นว่าพร้อมที่จะยุติมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจเร็วกว่าที่คาด ขณะที่กรรมการนโยบายหารือที่จะลดขนาดงบดุลเพื่อยกเลิกการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในช่วงโควิดระบาด
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีเพิ่มขึ้นไปที่เหนือระดับ 1.75% จากที่ปิดเมื่อสิ้นปี 2021 ที่ 1.51%
หุ้นเวลส์ ฟาร์โก เพิ่มขึ้น 2.5%หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา เพิ่มขึ้น 2.0% หุ้นมอร์แกน สแตนเลย์ เพิ่มขึ้น 1.7% หุ้นเจพีมอร์แกน เพิ่มขึ้น 1 %
การปรับเพิ่มขึ้นของกลุ่มพลังงานก็ช่วยหนุนตลาดหลังจากราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น โดยหุ้นไดมอนด์แบค เอ็นเนอร์จี้เพิ่มขึ้น 4.6% หุ้นเดวอน เอ็นเนอร์จี้เพิ่มขึ้น 3.7% และหุ้นออกซิเดนทัลเพิ่มขึ้น 3%
ข้อมูลตลาดแรงงานเป็นข้อมูลเศรษฐกิจที่นักลงทุนจับตาในสัปดาห์นี้ เพราะ เป็นปัจจัยหลักสะท้อนภาวะเศรษฐกิจ โดยกระทรวงแรงงานจะรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนธันวาคมในวันนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 444,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการจ้างงานที่แข็งแกร่งก่อนการระบาดระลอกใหม่
นักลงทุนยังประเมินข้อมูลการยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ระดับใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 52 ปี สะท้อนการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของตลาดแรงงาน จากความต้องการแรงงานในช่วงเข้าสู่ปีใหม่
เมื่อคืนนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานการยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้ว เพิ่มขึ้น 7,000 ราย สู่ระดับ 207,000 ราย สูงกว่า 195,000 รายที่นักวิเคราะห์คาด
ความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนให้ความสำคัญในปี 2022 และตลาดยังประเมินเงินเฟ้อและจับตาว่าเฟดจะดำเนินการในเชิงรุกมากแค่ไหน
แจ๊ค แอบลิน CIO จาก Cresset Capital ให้ความเห็นว่า เงินเฟ้อน่าจะแตะจุดสูงสุดแล้วตอนนี้ และแนวโน้มน่าจะลดลง แต่ไม่ว่าจะเพิ่มขึ้นหรืออ่อนตัว ก็จะอยู่ในระดับ 2.25% หรือ 2.5% ในสิ้นปี
ด้านไรอัน นิวแมน จาก Zephyr ระบุว่า ตลาดมักไม่ตอบสนองต่อการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดมากนัก แต่หากว่าเฟดเพิ่มความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ยและขึ้นดอกเบี้ยอย่างไม่คาดคิดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ นั่นถึงจะมีผลต่อตลาดหุ้นที่ร่วงลงแรง
กระทรวงพาณิชย์รายงาน การขาดดุลการค้าเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้น 19.4% มีมูลค่า 8.02 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงกว่า 7.71 หมื่นล้านที่นักวิเคราะห์คาด
ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลดลง นำโดยกลุ่มเทคโนโลยีที่ลดลง 2.4% ท่ามกลางการวิตกต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) และความกังวลว่า การยุตินโยบายการอัดฉีดเงินในชิงรุกของเฟด จะทำให้เกิดแรงเทขายในตลาดทั่วโลก
รายงานการประชุมเดือนธันวาคมของเฟดแสดงให้เห็นว่าพร้อมที่จะยกเลิกการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในช่วงโควิดระบาด
แต่กลุ่มธนาคารที่มักได้รับผลบวกจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ปรับตัวขึ้น โดยหุ้น Caixabank เพิ่มขึ้น 3.9% หุ้นสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดเพิ่มขึ้น 3.7%
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 488.16 จุด ลดลง 6.19 จุด, -1.25%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,450.37 จุด ลดลง 66.50 จุด, -0.88%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,249.66 จุด ลดลง 126.71 จุด, -1.72%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 16,052.03 จุด ลดลง 219.72 จุด, -1.35%
ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 1.61 ดอลลาร์ หรือ 2.1% ปิดที่ 79.46 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 1.19 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 81.99 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล