TTB analytics เตือนปี 65 รับมือ 3 ปัจจัยท้าทายเศรษฐกิจการเงินไทย

HoonSmart.com>>ttb analytics เตือน ปี 2565 รับมือ 3 ปัจจัยเสี่ยง ”จุดอ่อนเศรษฐกิจไทย – การปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายในระดับโลก-พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงทั่วโลก” รักษาเสถียรภาพการเติบโตของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจระยะยาว

ttb analytics ประเมิน การส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลาย และการเปิดประเทศที่เป็นไปตามแผน ส่งผลดีไปยังโมเมนตัมเศรษฐกิจปี 2565 ให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง ยกเว้นกรณีที่เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ภายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญจนต้องเข้าสู่ภาวะล็อกดาวน์อีกครั้ง

แต่ความท้าทายด้านเศรษฐกิจการเงินในปี 2565 เป็นสิ่งที่ภาครัฐและภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัวให้ทัน เพื่อรักษาเสถียรภาพการเติบโตของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจระยะยาว โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1. จุดอ่อนของภาคส่วนเศรษฐกิจไทย 2. การปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายในระดับโลก และ 3. พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงทั่วโลก

ความท้าทายด้าน”จุดอ่อนของภาคเศรษฐกิจไทย” มีปัจจัยหลักจาก
1.1) ความผันผวนของต้นทุนด้านอุปทานที่จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อไทยมากขึ้น โดยความผันผวนด้านราคาสินค้าตลาดโลกในปัจจุบันมาจากการผลิตสินค้าไม่ทันต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นเร็ว หรือความต้องการพลังงานในช่วงฤดูหนาวที่ยาวนานกว่าปกติในปีนี้

1.2) ปัญหาโครงสร้างนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กระจุกตัวอยู่ในบางประเทศมีอัตราสูง โดยเฉพาะจีนและประเทศในกลุ่มอาเซียน ทำให้รายได้ภาคการท่องเที่ยวเผชิญกับความอ่อนไหวเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น ดังนั้น ภาครัฐและภาคธุรกิจควรร่วมมือกันเร่งกระจายนักท่องเที่ยวเป้าหมายไปยังกลุ่มประเทศอื่น ๆ พร้อมกับเพิ่มกิจกรรมการท่องเที่ยวในประเภทที่สามารถทำมูลค่าเพิ่มได้

ความท้าทายด้าน”การปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายในระดับโลก” มีปัจจัยหลักจาก
2.1) การเปิดกว้างทางการค้าระหว่างประเทศที่ลดลง โดยเฉพาะในเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น จีนและอินเดีย แม้อุปสรรคการค้าในด้านภาษี (Tariff Barrier) ทั่วโลกจะลดลงต่อเนื่อง แต่มีหลังเกิดสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และอุปสรรคที่ไม่ใช่ด้านภาษี เช่น สิทธิบัตร ฯลฯ ยังไม่มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะกลุ่มเอเชียและแปซิฟิกย ดังนั้น แนวทางการสร้างความสัมพันธ์ผ่านข้อตกลงร่วมทางการค้าระหว่างประเทศ จะช่วยลดอุปสรรคการค้าลงได้

2.2) แนวนโยบายร่วมกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีผลให้ภาคธุรกิจและภาครัฐประเทศต่าง ๆ แสวงหาเทคโนโลยี นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนพลังงานสะอาด หากธุรกิจและนโยบายประเทศใดปรับตัวไม่ทัน อาจต้องสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนได้

ความท้าทายด้าน”พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป” ทั้งการทำงานจากที่บ้าน (Work Form Home) การซื้อสินค้าและบริการ และการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น รวมทั้งการมาถึงของชุมชนโลกเสมือนจริง (Metaverse) จะยิ่งเร่งพฤติกรรมทางเศรษฐกิจบนโลกออนไลน์ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญและเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่นับจากนี้เป็นต้นไป

“ความท้าทายทั้ง 3 ด้าน แม้ไม่รู้ว่าจะส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในอนาคตอย่างไร แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจไทยควรร่วมมือกันปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย โดยหาทางรับมือกับความผันผวนทางต้นทุนเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งปรับตัวต่อแนวนโยบายระดับโลกที่เปลี่ยนแปลง และสร้างโอกาสเพื่อรองรับพฤติกรรมเศรษฐกิจบนโลกออนไลน์ที่มีมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยนับแต่นี้เป็นต้นไป”