ก.ล.ต.-ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยันไม่ห้ามโรงเรียนเข้าตลาดหุ้น เปรียบเสมือนธุรกิจโรงพยาบาลเข้าระดมทุนในตลาด ช่วยลดต้นทุน พัฒนาการศึกษา วงการแบงก์ชี้ธุรกิจโรงเรียนกู้ยาก เหตุแบงก์ไม่อยากมีปัญหากรณีผิดนัดคืนหนี้ต้องยึดโรงเรียน กระทบนักเรียน
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผย www.hoonsmart.com ถึงกรณีบริษัท เอสไอเอสบี ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตในการจัดตั้งโรงเรียนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ว่า สามารถเข้าจดทะเบียนได้ เพราะบริษัทฯ ดังกล่าวมีใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์และ ก.ล.ต.ไม่มีเกณฑ์ห้ามแต่อย่างใด แต่ต้องรอให้หน่วยงานที่กำกับดูแลโรงเรียนเห็นชอบ
“กรณีที่เกิดขึ้นเหมือนการรับบริษัทจดทะเบียนทั่วไป ส่วนบริษัทไหนจะเข้าได้หรือไม่ได้จะมีคณะทำงานพิจารณาว่าธุรกิจนี้ระดมทุนได้ บริษัทก็ต้องมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีมีธรรมาภิบาล (Corporate Governance) และมีการเปิดเผยข้อมูลตามเกณฑ์”นายรพี กล่าว
นายอำนวย จิรมหาโภคา ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานการตลาดผู้ออกหลักทรัพย์ 1 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า การรับบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้นกรณีบริษัท เอสไอเอสบี ซึ่เป็นผู้ถือใบอนุญาตในการจัดตั้งโรงเรียน เปรียบเสมือนโรงพยาบาลที่เข้ามาระดมทุนในตลาดเหมือนกัน
กรณีของโรงเรียนมองว่าเป็นประโยชน์ เนื่องจากการที่โรงเรียนสามารถเข้ามาจดทะเบียนในตลาดแล้วมีต้นทุนการเงินลดลง บริษัทมีการบริหารทำกำไร ส่วนการจะปรับขึ้นค่าเล่าเรียนแพงขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับตลาดกลุ่มเป้าหมายของแต่ละโรงเรียน นอกจากนี้การเข้าระดมทุนในตลาดยังมีเงินเข้ามาพัฒนาธุรกิจทำให้บริษัทเติบโตและพัฒนาการศึกษาได้ ซึ่งในต่างประเทศ ยุโรปก็มีหุ้นที่ดำเนินธุรกิจโรงเรียนเข้าจดทะเบียนในตลาดเช่นกัน
“ขณะนี้ยังไม่มีโรงเรียนแห่งไหนมาติดต่อเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ คงต้องรอดูบริษัทนี้ ซึ่งเป็นรายแรกก่อนว่าเข้าได้หรือไม่ ซึ่งกรณีธุรกิจโรงเรียน ผู้ที่เข้าตลาด คือ ผู้ถือใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงเรียน ไม่ใช่โรงเรียนเข้าตลาด ซึ่งโรงเรียนก็จะมีคณะทำงาน ผู้บริหารจัดการคนละส่วนกัน”นายอำนวย กล่าว
แหล่งข่าวจากนายธนาคาร กล่าวว่า ธุรกิจโรงเรียนส่วนใหญ่ธนาคารหลายแห่งจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้ เนื่องจากเกรงว่าหากลูกค้าผิดนัดชำระหนี้แล้วจะต้องยึดโรงเรียน จะเป็นการสร้างผลกระทบต่อนักเรียน อย่างไรก็ตามบางธนาคารที่มีการปล่อยสินเชื่อให้ นอกจากดูกระแสเงินสดแล้วจะใช้หลักประกันอื่นๆ ที่ไม่ใช่ที่ตั้งของโรงเรียน เพราะกลัวว่าหากมีการผิดนัดจะทำให้เกิดปัญหา
ด้านหล่งข่าวจากวงการตลาดทุน กล่าวว่า ที่ผ่านมามีคำถามว่าการไม่รับหุ้นโรงเรียนเข้าจดทะเบียน ส่วนหนึ่งเพราะว่าไม่ใช่เป็นธุรกิจที่ไม่ได้หวังกำไร แต่เกรงว่าหากผู้บริหารหรือบริษัทดำเนินงานแล้วขาดทุนจำนวนมาก จนต้องเข้าเกณฑ์ฟื้นฟูกิจการหรือห้ามซื้อขายหุ้น การกำกับดูแลอาจยุ่งยากและลำบากใจ เพราะอาจไปขัดหรือทำให้ธุรกิจและนักเรียนได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ มีเสียงวิจารณ์ถึงการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัท เอสไอเอสบี ว่าไม่สามารถเข้าได้ เนื่องจากอาจขัดพ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550
บริษัท เอสไอเอสบี (SISB) เป็นผู้รับใบอนุญาตในการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ ซึ่งเป็นธุรกิจการศึกษารายแรกที่ระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจะเสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก (ไอพีโอ) จำนวน 260 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 0.50 บาทและคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปีนี้
อ่านประกอบ
SISB นำร่อง “โรงเรียน” เข้าตลาดหุ้น สร้างประวัติศาสตร์การศึกษาไทย