SCB EIC เชื่อ Q4 เศรษฐกิจฟื้นเร็วกว่าคาด หนุนปี 65โต 3.4%

HoonSmart.com>>SCB EIC มั่นใจเศรษฐกิจไตรมาส 4 ฟื้นเร็วกว่าคาด จากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หนุน ปี 2565 โต 3.4% จับตาปัจจัยเสี่ยง “การกลายพันธุ์ของไวรัส-ความสามารถในการชำระหนี้-เงินเฟ้อ-เศรษฐกิจจีน-ปัญหาการเมือง”

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ระบุ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ที่หดตัว 0.3%YOY ค่อนข้างใกล้เคียงกับที่ EIC คาดไว้ที่ -0.6%YOY แต่จากการติดตามข้อมูล mobility ของ Google และ Facebook พบว่ามีแนวโน้มที่เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 อาจฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ จากสถานการณ์การระบาดที่ดีขึ้น การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค และควาบคืบหน้าในการฉีดวัคซีน

โดยล่าสุดพบว่าภาวะการระบาดในประเทศปรับดีขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับจำนวนผู้ได้รับวัคซีนที่มีเพิ่มขึ้นมาก ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน มีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มอยู่ที่ 64.1% และผู้ได้รับวัคซีนครบโดสอยู่ที่ 51.2% ของประชากร และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นถึง 76-80% และ 68-72% ของประชากร ณ สิ้นปีนี้ ตามลำดับ ทำให้ภาครัฐผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคเป็นระยะ ๆ

ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเภทกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวจากทั้งคนไทยและคนต่างชาติ นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อาทิ การเพิ่มเงินโครงการคนละครึ่งเฟส 3 การให้เงินผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม และโครงการคงการจ้างงานในภาค SMEs เป็นต้น ทั้งนี้หากพิจารณาข้อมูลเร็วเพิ่มเติม (High Frequency data) จะเห็นได้ชัดเจนว่าดัชนีชี้วัดความเคลื่อนไหว (Mobility) ของทั้ง Google และ Facebook ส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา แต่ยังต่ำกว่าระดับปกติก่อนมี COVID-19

สำหรับปี 2565 EIC คาดเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในอัตราเร่งขึ้นจากปีนี้ที่ 3.4% ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในและนอกประเทศ เริ่มจากการส่งออกสินค้ายังมีแนวโน้มขยายตัวแม้ในอัตราที่ชะลอลงตามทิศทางเศรษฐกิจโลก ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนของไทยและประเทศต่าง ๆ ในเอเชียที่จะเพิ่มขึ้นในระดับที่สามารถเอื้อให้เกิดการเดินทางระหว่างประเทศได้สะดวกขึ้น จะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว

ด้านการใช้จ่ายในประเทศฟื้นตัวเช่นกันจากกิจกรรมเศรษฐกิจที่กลับมาดำเนินการได้ใกล้เคียงกับภาวะปกติ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้า ๆ จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังต่ำกว่าช่วงปกติมาก และผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ลึกจากผลกระทบในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทั้งการเปิดปิดกิจการที่ปรับแย่ลง ตลาดแรงงานที่เปราะบาง และภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ในส่วนของภาครัฐ

แม้การลงทุนจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) แต่แรงส่งจากภาครัฐในภาพรวมจะลดลงจากปีก่อนหน้าตามการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคของภาครัฐภายใต้กรอบงบประมาณที่ลดลง รวมถึงเม็ดเงินราว 2.6 แสนล้านบาทที่จะเหลือจาก พรก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ก็ถือว่ายังน้อยกว่าเม็ดเงินที่ภาครัฐใช้ทำมาตรการเพิ่มเติมในปี 2564

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตาม ได้แก่
1) การระบาด COVID-19 ทั้งในไทยและต่างประเทศที่อาจกลับมารุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะหากมีการกลายพันธุ์ของไวรัส
2) ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่อาจมีมากกว่าคาด จนกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในวงกว้าง
3) การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อตามราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นมาก จนกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก
4) เศรษฐกิจจีนที่มีความเสี่ยงจากวิกฤติพลังงานและภาคอสังหาริมทรัพย์
5) ปัญหาความไม่สงบทางการเมือง