“ทิสโก้” เผยปัญหาเศรษฐกิจในตุรกีสั่งสมมานาน พึ่งพิงเงินต่างชาติสูง นโยบายการเงินผ่อนคลายเกินไป ชี้วิกฤตไม่ลามตลาดเกิดใหม่ – ไทย เหตุเศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง ดุลบัญชีเดินสะพัดสูง เงินเฟ้อต่ำ ส่วนภาคธนาคารและเศรษฐกิจยุโรปได้รับผลกระทบในวงจำกัด
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาราคาสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกเคลื่อนไหวผันผวนอย่างมาก โดยเฉพาะค่าเงินและหุ้นในตลาดเกิดใหม่ โดยปัจจัยหลักมาจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นและเกรงว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศตุรกีจะลามไปถึงประเทศอื่นๆ หลังจากสหรัฐฯ ประกาศเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมเพื่อตอบโต้ประเทศตุรกี เพราะการเจรจาต่อรองให้ตุรกีปล่อยตัวชาวอเมริกันที่ถูกทางการตุรกีควบคุมตัวไว้ตั้งแต่ปี 2559 ในข้อหาสนับสนุนการก่อรัฐประหารในตุรกีไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้ค่าเงินลีราของตุรกี (Turkish Lira) อ่อนค่าลงอย่างรุนแรง นอกจากนี้ เศรษฐกิจตุรกีเองก็มีปัญหามาก ซึ่งอาจกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ส่งสินค้ามายังตุรกี และภาคธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับตุรกีได้
“เศรษฐกิจตุรกีต้องพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง เห็นได้จากดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ขาดดุลถึง -6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งแทบจะสูงที่สุดในโลก นอกจากนั้น นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเกินไป ยังทำให้อัตราการออมในประเทศอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาด้านความไม่สมดุล และทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงถึง 15.8% ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันให้ค่าเงินลีราอ่อนค่ารุนแรง ขณะที่ภาคเอกชนของตุรกีก็มีหนี้สกุลเงินต่างประเทศจำนวนมาก เมื่อค่าเงินลีราอ่อนค่าลงแรงย่อมทำให้ตุรกีมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น”นายคมศรกล่าว
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ประเมินว่าปัญหาเศรษฐกิจในตุรกี ถือเป็นปัญหาเฉพาะตัวของประเทศที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน ในขณะที่พื้นฐานเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่โดยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยนั้นยังคงแข็งแกร่ง เพราะมีดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) เกินดุลมากถึง 10% ของ GDP อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำที่ 1.5% และเงินทุนสำรองที่ยังอยู่ในระดับสูง
นอกจากนี้ เศรษฐกิจของตุรกียังมีขนาดประมาณ 8.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงราว 1% ของ GDP โลก จึงประเมินว่าความเสี่ยงที่มีปัญหาในตุรกีจะลุกลามไปสู่เศรษฐกิจอื่นๆ ยังมีจำกัด หากพิจารณาในส่วนของยอดการปล่อยกู้รวมของธนาคารต่างๆ ที่ปล่อยกู้ให้แก่ตุรกี ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปคิดเป็นวงเงินประมาณ 1.1 แสนล้านยูโรนั้น คิดเป็นเพียง 1% ของยอดปล่อยกู้รวมของทั้งอุตสาหกรรม จึงประเมินว่าประเด็นนี้มีผลกระทบต่อภาคธนาคารและเศรษฐกิจมหภาคในยุโรปอย่างจำกัดเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในตุรกีจะถูกส่งผ่านไปยังเศรษฐกิจโลกในสองช่องทาง ได้แก่ 1.ช่องทางการค้า เศรษฐกิจที่ตกต่ำและค่าเงินที่อ่อนค่าจะทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศลดลง ซึ่งประเทศคู่ค้าที่น่าจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญคือ รัสเซียและอิหร่านที่ส่งออกไปยังตุรกีคิดเป็นเป็นสัดส่วน 5% และ 11% ของการส่งออกรวมตามลำดับ 2. ช่องทางการปล่อยกู้ ธนาคารต่างชาติที่ปล่อยกู้ในตุรกีอย่างมีนัยสำคัญส่วนใหญ่เป็นธนาคารในยุโรป ซึ่งได้แก่ BBVA ของสเปน, Unicredit ของอิตาลี, ING ของเนเธอแลนด์, BNP ของฝรั่งเศส และ HSBC ของอังกฤษ แต่ที่ผ่านมาราคาหุ้นกลุ่มธนาคารในยุโรป ทั้งที่ได้รับผลกระทบและไม่ได้รับผลกระทบ ได้ปรับตัวลดลงมาแล้วราว 10% นับจากต้นเดือน ส.ค. ซึ่งน่าจะสะท้อนว่าตลาดได้ซึมซับผลกระทบจากความเสี่ยงของตุรกีไปมากแล้ว