โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา ผู้อำนวยการอาวุโส
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์
บลจ.กรุงไทย (KTAM)
รายงานประชุม FOMC 21-22 ก.ย. เผยเฟดเตรียมลด QE เดือนหน้าด้วยอัตรา $15,000 ล้านต่อเดือน แบ่งเป็นพันธบัตร $1 หมื่นล้าน MBS $5 พันล้าน สอดคล้องกับที่ตลาดคาดไว้ ถ้าไม่มีเซอร์ไพรส์ tapering คงจบกลางปี 2022
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สหรัฐ ก.ย. บวกแรงกว่าคาด พลังงานขาดแคลน อุปทานชะงัก (supply chain disruptions) หนุนราคาสินค้าพุ่งทะยาน นักเศรษฐศาสตร์หลายรายยอมรับแล้วว่า “เงินเฟ้อสูง” คงลากยาวต่อไปถึงปีหน้า
Flattening Yield Curve เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ “ราบลง” ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ยีลด์พันธบัตรอายุ 3 ปี พุ่งขึ้นแรงสุด +11bps สวนทางยีลด์ยาว 30 ปี ที่ดิ่งลงแรงสุด -11bps ตลาดมอง “เฟดเข้มงวดกว่าเดิม” เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ผลประมูลพันธบัตรสหรัฐอายุ 30 ปี สะท้อนดีมานด์แข็งแกร่งโดยเฉพาะจากนักลงทุนต่างชาติ
ผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก < 3 แสน เป็นสัปดาห์แรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด เงินช่วยเหลือพิเศษทยอยหมดไป สนับสนุนให้คนอเมริกันกลับเข้าทำงาน ตอกย้ำว่าตลาดแรงงาน “แข็งแกร่ง” nonfarm payrolls ต่ำกว่าคาดเพราะแค่ปัจจัยชั่วคราว อัตราว่างงานลด ตำแหน่งว่าง > คนว่างงาน หนุนค่าจ้างสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งเสริมการบริโภคอันเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐ แถมได้ข้อมูลสนับสนุนส่งท้ายสัปดาห์ ค้าปลีก ก.ย. บวกสวนความคาดหมาย ดังนั้น โอกาสเกิด stagflation ในสหรัฐมีความเป็นไปได้น้อยลง นักลงทุนคลายวิตกจึงโถมเข้าใส่สินทรัพย์เสี่ยงดันหุ้นทะยานทั่วโลก
“หุ้นญี่ปุ่น” คือตัวเลือกแรกในภาวะ Risk On เงินเยนอ่อนค่าโดดเด่นเป็นปัจจัยบวกต่อแนวโน้มรายได้และกำไรของบรรดาผู้ส่งออก แถมมีปัจจัยน้ำจิ้ม “Kishida U-turn” นายกฯญี่ปุ่นทนสวนกระแสไม่ไหวเลยพับแผนขึ้นภาษีหุ้นไว้ก่อน และยุบสภาตามคาด ประกาศเลือกตั้งทั่วไป 31 ต.ค. ปกติแล้วตลาดอาทิตย์อุทัยมักสดใสในบรรยากาศเช่นนี้ ใครไม่มีหรือเก็บไม่ครบอยากขึ้นรถยังทันทั้ง KT-JPFUND และ KT-JAPAN ยืนยันมุมมอง “ขบวนเก็บตก” (5 ก.ย.)
กลุ่มการเงิน (Financial Sector) ตีปีกรับผลดำเนินงานแบงก์ใหญ่ไตรมาส 3 โตแรงกว่าคาดทั้ง JPMorgan, Bank of America, Morgan Stanley และ Goldman Sachs ด้วยสารพัดปัจจัยขับเคลื่อน สอดคล้องกับเนื้อหา KTAM Focus อาทิตย์ก่อน “สั้นได้ ยาวดี KT-FINANCE” ยิ่งมั่นใจว่าสมมุติฐานของ Sotiris Boutsis ผู้จัดการกองทุนหลัก มีความเป็นไปได้สูง สนับสนุนการลงทุนหุ้นกลุ่มบริการด้านการเงิน (financial services) ทั่วโลก ผ่านกองทุน KT-FINANCE เพื่อรับแนวโน้มการเติบโตระยะยาว (long-term secular growth) และโอกาสระยะสั้น-กลาง จากหลากหลายธีมลงทุน
“ปูติน” ย้ำรัสเซียไม่ใช้แก๊สเป็นอาวุธการเมือง ยินดีปั๊มเชื้อเพลิงป้อนยุโรปเพิ่มตามต้องการ แย้มปัญหาแท้จริงมิใช่อุปทานไม่พอแต่เป็นเพราะ “นโยบาย” โดยดูเหมือนผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่สุดของโลกต้องการสั่งสอนลูกค้ากลุ่มสำคัญอย่างบรรดาสมาชิกอียูให้ “ล็อคสัญญาระยะยาว” แทนการซื้อในตลาด (spot market) แม้ราคาพลังงานไม่ค่อยลดแต่ก็ช่วยคลายกังวลเรื่องภาวะขาดแคลนได้บ้าง เป็นปัจจัยบวก “หุ้นยุโรป” เริ่มฟื้นหลังพักฐาน น่าสะสมเพิ่มทั้ง 2 กองทุน KT-EURO และ KT-EUROTECH เน้นตัวหลังเป็นพิเศษดังที่เขียนไว้ใน “เทคยุโรปจัดโปรแรง” (3 ต.ค.)
Michael Burry “The Big Short” ยอมรับเลิกขายชอร์ต Tesla ข่าวนี้ดันหุ้น +3% เมื่อวันศุกร์ ก่อนบริษัท EV ยอดนิยมรายงานผลกำไร Q3 อันน่าตื่นเต้น (20 ต.ค. after hours) หลังผลิตและส่งมอบรถได้มากเกินคาด น่าจะช่วยหนุน sentiment ของบรรดาหุ้นแนว disruptive technology ในพอร์ตกองทุนเช่น KT-WTAI
ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) กระตุ้นให้นานาชาติลงทุนพลังงานทดแทนเพิ่มเป็น 3 เท่าภายในสิ้นทศวรรษ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้และสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ตลอดจนบรรลุเป้าหมายลดโลกร้อน ตอกย้ำโอกาสซื้อสะสม KT-CLIMATE ราคาน่าสนใจหลังย่อลงมาค่อนข้างมาก
หุ้นสหรัฐราคาถูก P/E ประมาณ 10 เท่า..ยังมี! แม้ผู้พัฒนาวัคซีนโควิด Moderna และ BioNTech พุ่งแรงกว่า 200% ปีนี้ แต่หุ้น biotech ไซส์เล็กกลับโดนทอดทิ้ง ดัชนี equal weight ซึ่งใช้เป็นตัวแทน small cap biotech: S&P 500 Biotech Index มีอัตราส่วนกำไรคาดการณ์ต่อราคาหุ้น (forward P/E) 10.2x ถูกมากแค่ครึ่งเดียวของ S&P 500 (forward P/E 20.4x) นักวิเคราะห์บางรายมองระดับราคาหุ้น small biotech มีโอกาสถีบตัวสูงขึ้นได้ด้วย M&A (ถูกบริษัทใหญ่ๆซื้อกิจการ) เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจกลุ่ม healthcare มีเงินสดรวมกันเกือบ $5 แสนล้าน สูงเป็นประวัติการณ์ เรายังคงเน้นซื้อสะสม KT-HEALTHCARE อย่างต่อเนื่อง โดยกองทุนหลักมีหุ้น biotech (เน้น mid-small) ราว 1/3 ของพอร์ต
“อาเซียน” ผงาด! ชาติสมาชิกพร้อมใจผ่อนคลายมาตรการคุมโควิดในสัปดาห์ล่าสุด ไทย ประกาศเปิดท่องเที่ยว 1 พ.ย. นำร่องผู้ฉีดวัคซีนครบจาก 10 ประเทศเข้าได้ไม่ต้องกักตัว สิงคโปร์ ขยายจำนวนประเทศที่นักท่องเที่ยวฉีดวัคซีนครบเข้าได้โดยไม่ต้องกักตัวเช่นกัน มาเลเซีย ลดข้อจำกัดการเดินทางทั้งในและนอกประเทศ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดต่ำกว่าหมื่นคนต่อวัน อินโดนีเซีย เปิดประเทศมากขึ้น เพิ่มจำนวนชาติผู้มาเยือนและลดจำนวนวันกักตัว หลังผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่องและจำนวนผู้เสียชีวิตต่ำสุดตั้งแต่ มิ.ย. 2020 Standard Chartered คาดว่า เงินรูเปียห์อินโดนีเซีย (IDR) น่าจะ outperform ในไตรมาส 4 โดยเศรษฐกิจใหญ่สุดของอาเซียนมีแนวโน้มเกินดุลการค้ามากขึ้น ได้อานิสงส์จากราคาโภคภัณฑ์พุ่งหนุนยอดส่งออก ฟิลิปปินส์ ดัชนีหุ้น (PSEi) แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 8 เดือน นำโดยกลุ่มอสังหาฯและการเงิน รับข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิดลดลงและอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น เวียดนาม พยายามเรียกคนกลับเข้าโรงงาน เพื่อเร่งผลิตสินค้าป้อนชาวโลกก่อนถึงช่วงคริสต์มาส ย้ำวิว overweight “หุ้นอาเซียน” ไตรมาสนี้โดยเน้นสะสม 2 กองทุน ได้แก่ “ตัวหลัก” KT-ASEAN ขอบเขตกว้างครอบคลุม 6 ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านกองทุนหลักระดับคุณภาพของ JPMorgan และ “ตัวเสริม” KT-CLMVT ลงทุนหุ้นเวียดนามประมาณ 70% (ก.ย.) ส่วนที่เหลือมีหุ้นไทยและสภาพคล่อง
“แจ็ค หม่า” โผล่ฮ่องกง หลังห่างงานสังคมเกือบปี ย้ำสัญญาณคลี่คลายมาตรการคุมเข้มเทคจีน Evergrande “ใจใหญ่” ไม่หวั่นปัญหาหนี้ เตรียมเปิดไลน์ผลิตรถ EV ปีหน้า “ผู้กล้า” Morgan Stanley อัพเกรดหุ้นอสังหาฯจีนสู่ระดับ attractive “น่าดึงดูดใจ” มองความเสี่ยง default ซึมซับในราคาหุ้นมากแล้ว น่าเข้าไปลุ้นนโยบายผ่อนคลายซึ่งคาดว่าจะมาเร็วๆนี้ สอดคล้องกับจุดยืนของเรา “ปักหลักสู้” ถือต่อและซื้อ #ทีมจีน ทุกตัวทั้ง KT-Ashares, KT-CHINA, KT-CHINABOND ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ราคาลงมามากจนคุ้มเสี่ยงและน่าจะเจอ “ผู้ซื้อ” กลุ่มใหญ่ที่สนใจเข้าไปรับโอกาสระยะยาวแล้ว
สิ้นสุดการรอคอย…จีนเริ่มผ่อนคลายภาคอสังหาฯ รายงานข่าวเผยจีนสั่งธนาคารพาณิชย์เร่งอนุมัติสินเชื่อบ้าน พร้อมปลดล็อคให้ออกตราสารหนุนด้วยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Residential Mortgage-Backed Securities: RMBS) เพื่อขยายวงเงินปล่อยกู้ นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีน (PBOC) ออกมายืนยันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า 2 ความเสี่ยงสำคัญ ณ ปัจจุบัน “เงินเฟ้อ” และ “Evergrande” อยู่ในระดับที่ควบคุมได้
KT-CHINABOND น่าซื้อเพิ่มอย่างยิ่ง สถานการณ์ปัจจุบันคล้ายเมื่อเราเข้าซื้อ KT-GCINCOME ใกล้จุดต่ำสุดปี 2020 (Global Credit พิชิตไวรัส 29 มี.ค. 2020) ตอนนั้นปัญหาอยู่ในตลาดเครดิตสหรัฐเป็นหลัก (ราคาน้ำมันตกต่ำ US high yield มี energy sector เยอะ) ราคาตราสารลงมาจนยีลด์สูงมาก จึงฉกฉวยโอกาสเข้าซื้อล็อคยีลด์สูงๆแล้วก็แค่รอสภาพคล่องกลับมา ***สภาพคล่องต้องมา***ไม่มาไม่ได้***
เพราะตลาดเครดิตสำคัญมากต่อความอยู่รอดของเศรษฐกิจ …ครั้งนี้ก็คล้ายกัน… จุดสนใจย้ายมาอยู่ที่ภาคอสังหาฯจีน แนวทางแก้ไขมีพร้อมแล้วเริ่มดำเนินการตามจังหวะของผู้กำหนดนโยบาย สรุปว่าเวลานี้คือ โอกาสดีมาก สำหรับผู้ที่ต้องการยีลด์บนความเสี่ยงที่ควบคุมได้
คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน