SVI ออเดอร์ทะลัก ปรับเป้ารายได้ปีนี้โต 24%

SVI ปรับเป้ารายได้ปีนี้เป็น 1.58 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับปีก่อน ระบุ “เทรดวอร์” ทำให้ลูกค้าสหรัฐเริ่มหันสั่งซื้อสินค้าจากบริษัท ชี้ค่าบาทที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 32.7-33.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

นายพงษ์ศักดิ์ โล่ห์ทองคำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการบริษัท เอสวีไอ (SVI) เปิดเผยว่า บริษัทปรับเพิ่มเป้ารายได้ปีนี้เป็น 480 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.58 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่คาดจะมีรายได้ 440 ล้านเหรียญสหรัฐ และเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 24% เนื่องจากครึ่งปีแรกบริษัทมีรายได้ 220 ล้านเหรียญสหรัฐ และ ณ สิ้นไตรมาส 2 บริษัทได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าแล้ว 300 ล้านเหรียญ โดยจะส่งสินค้าและรับรู้รายได้ภายในปีนี้ 260 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ยอดขายปีนี้จะดีกว่าปีก่อนลิบลิ่ว และในช่วงครึ่งปีหลังเราอัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิจะดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากเราสามารถเจรจาปรับเพิ่มราคาสินค้าจากลูกค้าได้ อีกทั้งมีวัสดุดิบอยู่ในคลังซึ่งนำมาผลิตสินค้าได้ถึงไตรมาส 4 ปีนี้ ส่วนสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนนั้น ล่าสุดลูกค้าจากสหรัฐที่เดิมสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในจีน อยากย้ายมาหาเรา ยอดขายอยู่ที่ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเรากำลังดูอยู่”นายพงษ์ศักดิ์ระบุ

พงษ์ศักดิ์ โล่ห์ทองคำ

ทั้งนี้ ในปี 2560 เอสวีไอมีรายได้ 12,681 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 491 ล้านบาท และครึ่งแรกของปีนี้บริษัทมีรายได้แล้ว 7,108 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 334 ล้านบาท

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ปีหน้าบริษัทตั้งเป้าเพิ่มยอดขายเป็น 640 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยขณะนี้มีคำสั่งซื้อสินค้า ทั้งจากลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่อีก 3 รายเข้ามาแล้ว 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการหาคำสั่งซื้ออีก 40 ล้านเหรียญสหรัฐไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด ขณะที่ในปี 2563 บริษัทตั้งเป้าเพิ่มยอดขายเป็น 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยยอดขาย 750 ล้านเหรียญสหรัฐจะมาจากกำลังการผลิตของโรงงานเดิม และที่เหลือจะมาจากโรงงานใหม่ที่บริษัทจะเข้าไปซื้อกิจการ

“เรามีแผนเข้าซื้อกิจการโรงงานเพิ่ม โดยมุ่งไปทีโรงงานที่ตั้งอยู่ในแถบอเมริกาเหนือ และหากเป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ในเม็กซิโกก็ยิ่งดี เพราะเรามีออเดอร์ที่เม็กซิโก 60 ล้านเหรียญสหรัฐ”นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

นายพงษ์ศักดิ์ ยังกล่าวว่า หากค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวอยู่ที่ 32.7-33.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะทำให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันได้ดีขึ้น นอกจากนี้ บริษัทได้ใช้เงิน 30 ล้านบาท ลงทุนพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) สำหรับการสั่งซื้อวัตถุดิบ โดยระบบเอไอดังกล่าวจะทำให้บริษัทรู้ว่าจะสั่งซื้อวัตถุจากใคร ในเวลาใด และราคาเท่าไหร่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อบริษัทในแง่การบริหารจัดการต้นทุน และแก้ปัญหาในเรื่องการขาดวัตถุดิบ