บจ.กลุ่ม “เกษตร-อาหาร” เซ่นโควิดปี 63 เลิกจ้างสูงสุด “อิเล็กฯ-เทคโนโลยี” อู้ฟู่รับเพิ่ม

HoonSmart.com>> ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่องแรงงานบจ.ใน SET และ mai ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 พบปี 63 กลุ่ม “เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร” เลิกจ้างสูงสุดถูกพิษโควิด ปิดสาขา หยุดดำเนินกิจการบางส่วน ด้าน “กลุ่มทรัพยากรและกลุ่มเทคโนโลยี” อู้ฟู่ จ้างงานเพิ่มขึ้นสูงสุดหลังกำไรโต ขยายลงทุนเพิ่ม

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ณ ปี 2563 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) มีจำนวน 743 บริษัท เพิ่มขึ้น 17 บริษัทจากปีก่อนหน้า โดยพบว่ามีจำนวนพนักงานรวมทั้งสิ้น 1,608,495 คน คิดเป็น 4.2% ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนพนักงานเพิ่มขึ้น 130,643 คน หรือ 8.8% จากปีก่อนหน้า โดยมีพนักงานจากบริษัทจดทะเบียนใน SET 1,542,749 คน และพนักงานจากบริษัทจดทะเบียนใน mai 65,746 คน

หากพิจารณาเป็นค่าเฉลี่ยการจ้างงานต่อบริษัท พบว่าค่าเฉลี่ยการจ้างงานของบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai เท่ากับ 2,165 คน ขณะที่ค่าเฉลี่ยการจ้างงานของบริษัทที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมดในประเทศไทย เท่ากับ 66 คน

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาเฉพาะบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai ที่รายงานข้อมูลจำนวนพนักงานต่อเนื่องติดต่อกัน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2563 จำนวน 619 บริษัท พบว่า ณ สิ้นปี 2563 บริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai มีจำนวนพนักงานรวมทั้งสิ้น 1,263,634 คน ลดลงจากปีก่อนหน้า 119,109 คน ซึ่งประกอบด้วยพนักงานจากบริษัทจดทะเบียนใน SET เท่ากับ 1,207,712 คน ลดลง 115,449 คน และเป็นพนักงานจากบริษัทจดทะเบียนใน mai เท่ากับ 55,922 คน ลดลง 3,660 คนจากปีก่อนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 และการแยกธุรกิจบางส่วนออกเป็นบริษัทย่อย ทำให้จำนวนพนักงานในบริษัทเดิมลดลง

ในปี 2563 การจ้างงานของบริษัทในกลุ่มทรัพยากรและกลุ่มเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยบริษัทในกลุ่มทรัพยากรมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากที่สุด เนื่องจากบางบริษัทมีผลประกอบการดี มีกำไรต่อเนื่อง และบางบริษัทได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจใหม่ๆ เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานสะอาด และยานยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้บริษัทเหล่านี้มีความต้องการพนักงานเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาการจ้างงานของบริษัทในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร พบว่า ลดลงเป็นสัดส่วนมากที่สุด ซึ่งสาเหตุอาจเป็นเพราะผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ประกอบกับบางบริษัทมีธุรกิจที่มียอดขายลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้บางกิจการต้องปิดสาขา หรือหยุดดำเนินกิจการในบางส่วน เป็นเหตุให้บริษัทจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง

สาเหตุสำคัญที่อาจทำให้พนักงานถูกเลิกจ้างในหลายอุตสาหกรรม มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ลดลงมากถึงร้อยละ 99.8 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562 ส่งผลกระทบต่อภาคบริการโดยตรง ทั้งธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม รวมทั้งธุรกิจการบิน และยังทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง ส่งผลให้แรงงานในภาคการท่องเที่ยวเสี่ยงต่อการตกงานเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้มาตรการล็อกดาวน์ (lockdown) หรือปิดเมือง ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมจนถึงเดือนมิถุนายน 2563 รวมถึงมาตรการอื่นๆ เพื่อควบคุมวิกฤต COVID-19 เช่นการปิดสถานที่ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ชั่วคราว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงงานที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมที่ถูกระงับ และส่งผลกระทบทางอ้อมผ่านการลดการบริโภค โดยกิจการอาจลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน ค่าจ้างหรือลดจำนวนพนักงานลง เพื่อให้สอดคล้องกับยอดขายในช่วงวิกฤตนี้ รวมทั้งเด็กจบใหม่เสี่ยงที่จะตกงานสูงในปีดังกล่าว