HoonSmart.com>>“พดด้วง” ซีอีโอ เอสเอเอเอ็ม เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ กับแนวคิด “เหนื่อยครั้งเดียวแต่เก็บเกี่ยวยาว” ลุยธุรกิจเรือธงใหม่ “โซลูชั่นบริหารจัดการทรัพย์สิน”
ชื่อ “พดด้วง คงคามี” ได้ยินชื่อหลายคนคงนึกถึงเหรียญพดด้วง เพราะยุค 5 จี แทบจะไม่เคยได้ยินใครพูดถึงชื่อ “พดด้วง” เลย จึงอดแปลกใจไม่ได้ถึงที่มาของชื่อ “พดด้วง” และเมื่อมีโอกาสได้พูดคุย กลับพบว่าชื่อ “พดด้วง” แม้จะดูโบราณ แต่วิธีการคิดของเขา นำหน้าชื่อไปไกลหลายทศวรรษ
“พดด้วง” ในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสเอเอเอ็ม เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ (SAAM) หรือชื่อใหม่ บริษัท เอสเอเอเอ็ม ดีเวลลอปเมนท์ ผู้บริหารหนุ่มวัย 40 กลางๆ เด็กสถาปัตยกรรมจุฬาฯ ที่ต้องการได้มุมมองการบริหาร เพื่อออกแบบธุรกิจ จึงไปเรียนต่อบริหารจัดการที่สหรัฐอเมริกา เพราะ “พดด้วง” ไม่ต้องการเรียนสถาปัตย์ฯ เพื่อออกแบบบ้าน ไม่ต้องการทำธุรกิจที่ต้องแอคทีฟ หารายได้ตลอดเวลา ดังนั้น ทุกสเต็ปที่ทำจะคิดเยอะ โดยนำความเสี่ยงมาบริหารจัดการก่อน
“พดด้วง” คุ้นเคยกับประเทศญี่ปุ่น เริ่มจากธุรกิจครอบครัว โรงงานส่งออกเสื้อผ้าไปวอลล์มาร์ท สหรัฐฯ และโรงงานหนัง ส่งออกญี่ปุ่น ทำให้เขาคุ้นเคยกับญี่ปุ่นมาก หลังจากเรียนจบเขาถูกวางตัวให้บริหารกิจการต่อ แต่ด้วยแนวคิด ไม่ชอบทำอะไรที่เป็นรายได้ที่ต้องหาทุกเดือน ทุกวัน ชอบทำดีล 1 ดีล แล้วเก็บเกี่ยวยาว หรือเหนื่อยครั้งเดียว เก็บเกี่ยวรายได้ยืนยาว ซึ่งเป็นการออกแบบธุรกิจที่ง่าย ทำงานง่าย ไม่กดดัน รับรู้รายได้ง่าย เมื่อทุกอย่างดูง่าย บุคลากรจึงไม่ต้องมาก SAAM มีพนักงานประจำเพียง 7 คนเท่านั้นจากช่วงเริ่มต้น 2 คน
ซีอีโอ SAAM เป็นคนแรกๆ ที่ทำโซลาร์รายแรกให้กับลูกค้ารายหนึ่งของไทยปี 2550 ขนาด 1.5 เมกะวัตต์ ยุคแรกๆ เมกะวัตต์ละ 150 ล้านบาท
ปัจจุบัน 2564 SAAM ประกอบด้วย 2 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ 1.กลุ่มธุรกิจพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 2. กลุ่มธุรกิจลงทุน
ซึ่งกลุ่มธุรกิจพัฒนาโครงการ ที่ SAAM ทำ คือ จัดหาสถานที่ตั้งและให้บริการที่เกี่ยวข้องภายในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ตามความต้องการของลูกค้า และพัฒนาเพื่อจำหน่าย
กลุ่มธุรกิจลงทุน SAAM ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ลงทุนกิจการเกี่ยวข้องกับพลังงาน และ ลงทุนในกิจการไม่เกี่ยวข้องกับพลังงาน
สำหรับกลุ่มธุรกิจพัฒนาโครงการ นั้น ประกอบด้วย
1.1 ธุรกิจจัดหาสถานที่ตั้งและให้บริการ ที่เกี่ยวข้องภายในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รับรู้รายได้แล้ว และเป็น recurring income ที่แน่นอนในอีก 20 ปีข้างหน้า มีกำไรสุทธิ ปีละประมาณ 18 ล้านบาท
1.2 ธุรกิจพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อจำหน่าย (ทำให้เสร็จก่อน แล้วค่อยขาย) ซึ่งบริษัท ฯ มีโครงการพัฒนาเสร็จแล้ว รอจำหน่าย 2 โครงการ คือ Oita 01 กับ Oita 02 ในญี่ปุ่น ทั้งสองโครงการมีราคาขายรวมที่ 400 ล้านเยน
รายได้และกำไรในธุรกิจนี้ จะคาดเดายาก เนื่องจาก การส่งมอบจะขึ้นอยู่กับผู้ซื้อ ซึ่งไม่สามารถกำหนดได้เลย ว่าจะส่งมอบกันแน่นอนช่วงไหน จึงไม่ได้รวมอยู่ในประมาณการ แต่จะเป็นอัพไซด์ของรายได้
1.3 ธุรกิจให้บริการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (ขายก่อน แล้วค่อยทำให้เสร็จ) ได้รับสัญญาจากลูกค้า เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ให้ SAAM พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ที่ประเทศญี่ปุ่น รวม 10 โครงการ ขนาดรวม 100 เมกะวัตต์ มูลค่างาน 1,000 ล้านเยน กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนในสัญญาไว้ที่ 0.289 (มีทั้งหมด 8 milestone payments) รายได้ทั้งสัญญา 1,000 ล้านเยน หรือ 290 ล้านบาท
แบ่งเป็น 2 เฟส / เฟส 1 จำนวน 6 โครงการ ขนาดรวม 60 เมกะวัตต์ / และเฟส 2 จำนวน 4 โครงการ ขนาดรวม 40 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะส่งมอบได้ดังนี้
ปี 2564 คาดว่าส่งมอบได้
– 2 milestones ของเฟส 1 เท่ากับ 40% ของ 600 ล้านเยน (240 ล้านเยน) คาดการณ์สำเร็จเดือนธันวาคม
ปี 2565 คาดว่าส่งมอบได้
– 6 milestones ของเฟส 1 เท่ากับ 60% ของ 600 ล้านเยน (360 ล้านเยน)
– 2 milestones ของเฟส 2 เท่ากับ 40% ของ 400 ล้านเยน (160 ล้านเยน)
ปี 2566 คาดว่าส่งมอบได้
– 6 milestones ของเฟส 2 เท่ากับ 60% ของ 400 ล้านเยน (240 ล้านเยน)
บริษัทฯ ค่อนข้างมั่นใจในรายได้และกำไรในธุรกิจนี้ เนื่องจากความสำเร็จของงานจะอยู่ที่ความสามารถของบริษัทฯ ล้วน ๆ ซึ่งบริษัทฯ มั่นใจว่า สามารถทำให้สำเร็จได้ เพราะเคยทำสำเร็จมาแล้วหลายโครงการ
สำหรับกลุ่มธุรกิจลงทุน ประกอบด้วย
2.1 ธุรกิจลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รับรู้รายได้แล้ว และเป็น recurring income ในอีก 20 ปีข้างหน้า มีกำไรสุทธิที่ปีละประมาณ 6 ล้านบาท
2.2 ธุรกิจลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ที่กำลังพัฒนาอยู่ คือ
2.2.1 ธุรกิจปลูกป่าพลังงาน ขนาด 60,000 ไร่ ซึ่งมีที่ดินมุ่งหวังที่ ประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนาม และกัมพูชา
2.2.2 ธุรกิจผลิตชีวมวลอัดเม็ด ขนาดกำลังผลิต 120,000 ตันต่อปี ซึ่งจะรับไม้ท่อนมาจาก ธุรกิจปลูกป่าพลังงาน โดยจะขายให้กับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นส่งเสริม และมีความต้องการให้สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มอีกกว่า 7,000 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลเหล่านั้น ต้องการเชื้อเพลิง ซึ่งเทียบเท่ากับการใช้ชีวมวลอัดเม็ดจำนวนกว่า 40 ล้านตันต่อปี ทำให้บริษัทฯ เล่งเห็นถึงโอกาสและต้องการตอบสนองความต้องการอันมหาศาลนี้
2.3 ธุรกิจลงทุนในกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับพลังงาน
ที่กำลังดำเนินการขายอยู่ คือ ธุรกิจโซลูชั่นปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการผ้าในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องทำงานให้ง่ายที่สุด แล้วเก็บเกี่ยวรายได้นานที่สุด ตามคอนเซ็ปต์ของเขา แต่ความยากอยู่ที่ตอนนำเสนอ “ระบบโซลูชั่น” บริหารจัดการด้วยเทคโนโลยี RFID ซึ่งจะเป็นเรือธงใหม่ของ SAAM
ซีอีโอ กล่าวว่า การลงทุนโซลูชั่น นี้ นำมาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพบริหารจัดการผ้าในโรงพยาบาล (รพ.) ก่อน ช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการผ้าในรพ. รวมทั้งการบริหาร-จัดการสต็อกผ้า โดยทดลองนำ RFID ไปทดลองกับรพ.ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งพบว่า ประหยัดได้ปีละ 14 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีแผนนำโซลูชั่น ไปใช้บริหารจัดการทรัพย์สินอื่น ๆ เช่น รถเข็นกระเป๋าในสนามบิน , เครื่องมือโรงงาน , อุปกรณ์การแพทย์รพ. อาทิ เปลคนไข้, เครื่องช่วยหายใจ ฯ ลฯ
“ขณะนี้มีการทดลองนำโซลูชั่น ไปใช้กับรพ.รัฐ เพื่อนำผลไปสรุปกับรพ.เอกชน ไตรมาส 4/2564 ตั้งเป้าเปิดขายระบบให้ได้ 10 ราย จากเป้าหมาย 50 ราย หรือ 10% ของรพ.ทั้งหมดของประเทศ เบื้องต้นจะลงทุนด้วยเงินของบริษัทประมาณ 30-50 ล้านบาท แล้วจะขยายจำนวนโรงพยาบาล ลงทุนเพิ่มด้วยเงินจากการใช้สิทธิ SAAM-W1 จำนวนประมาณ 50 ล้านบาท…” ซีอีโอ กล่าว
ทั้งนี้ SAAM จะออกวอร์แรนต์ จำนวน 2 ชุด ให้กับผู้ถือหุ้นโดยขึ้น XW วันที่ 14 ก.ย.นี้ สัดส่วน 10 หุ้นเดิม ต่อ 1 วอร์แรนต์ SAAM-W1 และ SAAM-W2
สำหรับ SAAM-W1 มีอายุ 1 ปี อัตราส่วนการใช้สิทธิ 1:1: 7.50 บาท ใช้สิทธิ 3 ครั้ง ๆ แรก 17 ม.ค. 2565 , 18 พ.ค. 2565 และครั้งสุดท้ายเมื่อ SAAM-W1 อายุครบ 1 ปี
ส่วน SAAM-W2 อายุ 3 ปี อัตราส่วนการใช้สิทธิ 1:1: 11 บาท ใช้สิทธิครั้งแรก 17 ม.ค. 2565 และใช้สิทธิ SAAM-W 2 ครั้งสุดท้ายเมื่อครบ 3 ปี