HoonSmart.com>>EXIM BANK คาดการค้าออนไลน์โลกปี 64 โต 4.9 ล้านล้านดอลลาร์ สวนทางการค้าโลกที่หดตัว แนะผู้ส่งออก SMEs ปรับตัวรับการค้ารูปแบบใหม่ โดยขจัด “ความกลัว” และต้องมั่นใจที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสถาบันการเงิน EXIM BANK ให้เป็นประโยชน์
ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวเปิดงานสัมมนาออนไลน์ “Digital พลิกโฉมการค้าโลก” จัดโดย EXIM BANK ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภค ตลอดจนสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ เปลี่ยนแปลงไปจากวิถีปกติ และเชื่อมโยงการใช้ชีวิตกับเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การค้าออนไลน์ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ผู้ประกอบการไทยที่ปรับตัวได้ทันจึงเข้าถึงโอกาสนี้ได้เร็ว และมีส่วนทำให้เศรษฐกิจไทยก้าวเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างชัดเจนมากขึ้น
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า ในปี 2563 เศรษฐกิจโลกและการค้าโลกต้องเผชิญวิกฤตโควิด-19 จนทำให้ GDP โลกหดตัว 3.2% ขณะที่การค้าสินค้าและบริการของโลกหดตัว 9% และ 15% ตามลำดับ แต่การค้าออนไลน์ (E-Commerce) ของโลกกลับขยายตัวกว่า 20% จาก 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 เป็น 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 และคาดว่าจะมีมูลค่า 4.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 และเพิ่มขึ้นเป็น 7.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568
ขณะที่ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงไปมากกว่า 50% ของผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้จ่ายออนไลน์บ่อยกว่าที่ผ่านมา และมากกว่า 40% ของผู้บริโภคมีแนวโน้มรับชมสื่อบันเทิงออนไลน์บ่อยกว่าเดิม
ดังนั้นผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ต้องเตรียมพร้อมที่จะเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจในโลกการค้ายุคใหม่ โดยขจัด “ความกลัว” หรือ “ความไม่กล้าเสี่ยง” ออกไป แต่ต้องมั่นใจที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและสถาบันการเงิน อาทิ EXIM BANK ให้เป็นประโยชน์ เพื่อเสริมธุรกิจให้แข็งแรง ทั้งด้านเทคโนโลยี ความรู้ เงินทุน และเครื่องมือบริหารความเสี่ยง ที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ ไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ได้อย่างประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ EXIM BANK มีบริการสนับสนุนทั้งด้านเงินทุน ประกันการส่งออก และระบบดิจิทัล อาทิ ระบบบริหารจัดการความรู้และประเมินความพร้อมด้านการส่งออก (Thailand Export Readiness Assessment and Knowledge Management : TERAK) และ Thailand E-commerce Pavilion
“ธุรกิจ SMEs มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยสูงมาก โดยมีสัดส่วนต่อ GDP รวมทั้งประเทศกว่า 30% ทำให้เกิดการจ้างงานจำนวนมากกว่า 12 ล้านคน ดังนั้น การสนับสนุนให้ SMEs สามารถขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้แม้ในภาวะวิกฤต รวมถึงขยายธุรกิจให้เติบโตได้ท่ามกลางโอกาสที่เกิดขึ้นในโลกวิถีใหม่ (New Normal) จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและเป็นรากฐานการพัฒนาธุรกิจ SMEs อย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยตอบสนองต่อเทรนด์ความนิยมของผู้บริโภคยุคใหม่และเมกะเทรนด์ที่ส่งผลกระทบต่อโลกเป็นวงกว้างในอนาคตข้างหน้า” ดร.รักษ์ กล่าว
ติดตามข่าว หุ้นเด่นระหว่างวัน ผ่านช่องทาง Line OpenChat : https://line.me/ti/g2/wEbsUcMaP2oP45XhK3vYhQ