ผู้ว่าธปท.แจงต่างชาติยันเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งรับผลกระทบจากโควิดได้

HoonSmart.com>>ผู้ว่าธปท.ชี้แจงนักลงทุนต่างชาติ ยันเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง”หนี้ต่างประเทศต่ำ-ธนาคารมั่นคง -การคลังมีเสถียรภาพ” รับผลกระทบจากโควิดได้ ด้านนโยบายการเงินลดดอกเบี้ย ปรับกฎเกณฑ์ หนุนภาคธุรกิจและรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงิน พร้อมวางรากฐานสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เน้น”ดูแลสิ่งแวดล้อมและดิจิทัล”

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Thailand Focus 2021 หัวข้อ”From Resiliency to Recovery and Beyond: Central Bank Policies for an Uncertain World” โดยยืนยันว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด แต่เสถียรภาพโดยรวมของเศรษฐกิจไทยมีความมั่นคง โดยความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย สะท้อนใน 3 ด้าน ได้แก่

1) เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากไทยมีหนี้ต่างประเทศในระดับต่ำและระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
2) เสถียรภาพด้านสถาบันการเงิน โดยธนาคารพาณิชย์ยังมีงบการเงินที่เข็มแข็ง สามารถรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ (shock absorber)
3) เสถียรภาพด้านการคลังของประเทศไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยรัฐบาลไทยยังสามารถกู้เงิน ได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ

ซึ่งธปท.ได้มีบทบาทในการดูแลวิกฤติครั้งนี้ โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5% ในปัจจุบัน เพื่อเอื้อให้ภาวะการเงินช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และมีสภาพคล่องที่เพียงพอ รวมทั้งมีมาตรการด้านสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อให้ธุรกิจและรายย่อย และได้ดำเนินมาตรการที่ตรงเป้าหมาย (targeted) และยืดหยุ่น (flexible) มากขึ้นเช่น การออก พ.ร.ก. ให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจฯ ที่ปรับปรุงจาก พ.ร.ก. ฉบับก่อนโดยมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” สำหรับภาคธุรกิจที่ใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน

สำหรับบริบทของเศรษฐกิจทั่วโลกหลัง Covid-19 ธปท. มองว่าจะมีลักษณะ 1) คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Greener) และ 2) มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น (more Digital) ในด้านสิ่งแวดล้อม (green) ธปท. อยู่ระหว่างการผลักดันภาคธนาคารพาณิชย์ให้มีการให้เงินกู้อย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยกำลังพัฒนาในเรื่องของมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล (disclosure standards) และการพัฒนาในด้านคำนิยามด้านสิ่งแวดล้อม (green taxonomy) เพื่อนำมาใช้ปฏิบัติได้โดยเร็ว

ในขณะที่ด้านดิจิทัล (Digital) ธปท. ได้วางรากฐานสำคัญสำหรับระบบชำระเงิน เช่น การทำ QR-Code มาตรฐานในการชำระเงิน และระบบพร้อมเพย์ นอกจากนี้ ธปท. ยังให้ความสำคัญกับนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านเทคโนโลยีทางการเงินด้วย เช่น การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง ซึ่งทั้งหมดนี้ จะทำให้ระบบการเงินของไทยมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น มีต้นทุนที่ต่ำลง และเข้าถึงง่ายขึ้น สามารถสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน