HoonSmart.com>>ก.ล.ต. เตรียมลดขั้นตอนการจัดทำงบการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อลดภาระ ต้นทุน และขั้นตอนการดำเนินการ แต่ งบการเงินดังกล่าวยังต้องผ่านการรับรองจากผู้สอบบัญชี
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงเกณฑ์เกี่ยวกับงบการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) โดยกำหนดให้ไม่ต้องผ่านการรับรองโดยที่ประชุมใหญ่สมาชิก เพื่อลดภาระ ต้นทุน และขั้นตอนการดำเนินการของบริษัทจัดการลงทุนและคณะกรรมการกองทุน โดยที่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยังคงมีช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนที่เพียงพอ
ก.ล.ต. ได้หารือกับสมาคมบริษัทจัดการลงทุนและผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเกณฑ์ข้างต้นช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยเห็นว่า การจัดทำงบการเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่กำหนดให้บริษัทจัดการลงทุนต้องจัดทำ พร้อมรายงานการสอบบัญชีต่อที่ประชุมใหญ่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อรับรองงบการเงิน และนำส่งสำเนางบการเงินและรายงานการสอบบัญชีดังกล่าวต่อ ก.ล.ต. ภายในเวลาที่กำหนด ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันภายใต้พัฒนาการของเทคโนโลยีที่มีความรุดหน้า ทำให้สมาชิกสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพผ่านช่องทางใหม่ ๆ ได้ง่ายและทั่วถึงมากขึ้นโดยไม่ต้องพึงพาช่องทางการจัดประชุมใหญ่สมาชิก โดยคณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) ในการประชุมครั้งที่ 10/2564 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบให้ ก.ล.ต. ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อยกเลิกข้อกำหนดที่ให้งบการเงินต้องผ่านการรับรองจากที่ประชุมใหญ่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อไป
ทั้งนี้ งบการเงินดังกล่าวยังคงต้องผ่านการรับรองจากผู้สอบบัญชี โดยให้บริษัทจัดการลงทุนต้องจัดทำงบการเงินของกองทุน และเผยแพร่พร้อมรายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีให้แก่สมาชิกรับทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน เป็นต้น หรือช่องทางอื่นใดที่สมาชิกสามารถเข้าดูข้อมูลได้อย่างทั่วถึง พร้อมทั้งนำส่งสำเนางบการเงินและรายงานการสอบบัญชีดังกล่าวให้สำนักงานภายใน 3 เดือนนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีประจำปีของกองทุน จากเดิมที่กำหนดภายใน 5 เดือน
นอกจากนี้ เพื่อให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีช่องทางในการรับฟังรายงานสรุปผลการดำเนินงาน รวมทั้งมุมมองต่อภาวะตลาด เศรษฐกิจ และการลงทุนจากบริษัทจัดการ ก.ล.ต. จึงเสนอให้บริษัทจัดการจัดลงทุนต้องจัดให้มีการรายงานดังกล่าวอย่างน้อยทุก ๆ รอบเดือนมิถุนายน และเดือนธันวาคม โดยให้ดำเนินการภายใน 2 เดือน นับจากวันสิ้นรอบระยะเวลาดังกล่าวด้วย โดยคาดว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเริ่มใช้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีประจำปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป