HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยให้แนวรับ 1,535 และ 1,525 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,565 และ 1,580 จุด จากสัปดาห์ก่อนบวก 1.63% แรงซื้อของสถาบันไทยเข้าหุ้นแบงก์ ด้านค่าเงินบาทธนาคารกสิกรไทยให้กรอบเคลื่อนไหว 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ
บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย มองหุ้นสัปดาห์ถัดไป (23-27 ส.ค.2564) ดัชนีมีแนวรับที่ 1,535 และ 1,525 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,565 และ 1,580 จุด ตามลำดับ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิดทั้งในและต่างประเทศ ประเด็นการเมือง ตลอดจนการประชุมประจำปีของเฟดที่ Jackson Hole
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนส.ค. (เบื้องต้น) ยอดขายบ้านใหม่และบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนีราคา PCE/Core PCE Price Index เดือนก.ค. ตลอดจนจีดีพีไตรมาส 2/64 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI เดือนส.ค. (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่นและยูโรโซน
หุ้นปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,553.18 จุด เพิ่มขึ้น 1.63% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 80,548.25 ล้านบาท ลดลง 3.33% ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 3.10% มาปิดที่ 503.46 จุด
หุ้นปรับตัวขึ้นได้ แม้จะมีแรงกดดันจากสถานการณ์โควิดในประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย การดีดตัวขึ้นในช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ หลักๆ เป็นผลจากแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนสถาบัน โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารที่ขานรับการผ่อนปรนให้กลับมาเปิดบริการในห้างได้ และกลุ่มการเงินซึ่งได้รับอานิสงส์จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถของนอนแบงก์บางราย อย่างไรก็ดี หุ้นย่อตัวลงช่วงสั้นๆ ระหว่างสัปดาห์ หลังบันทึกการประชุมเฟด ทำให้ตลาดตีความว่ามีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดวงเงิน QE ภายในปีนี้
สำหรับค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (23-27 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหว ที่ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ
เงินบาทปรับตัวในกรอบแคบๆ โดยอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย แต่เงินบาทดีดตัวแข็งค่ากลับมาช่วงสั้นๆ ในเวลาต่อมาตามการปรับโพสิชันในระหว่างที่รอบันทึกการประชุมเฟด เงินบาทกลับมามีทิศทางอ่อนค่าอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ตามจังหวะสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากกระแสการคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะมีการเริ่มปรับลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ภายใต้มาตรการ QE ลงภายในสิ้นปีนี้เป็นอย่างเร็ว หากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง
ในวันศุกร์ (20 ส.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 33.36 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (13 ส.ค.)