KTAM Focus : Stagflation

โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์
บลจ.กรุงไทย

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ “ดิ่งช็อกตลาด” ต่ำสุดในรอบเกือบ 10 ปี ดัชนีจัดทำโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ต้นเดือน ส.ค. ร่วง 11 จุดเหลือ 70.2 ต่ำสุดตั้งแต่ ธ.ค. 2011 “เงินเฟ้อ-โควิดเดลตา” เข้ามาหน่วงเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลก ดัชนีย่อย “ภาวะปัจจุบัน” (current conditions) ต่ำสุดตั้งแต่ เม.ย. ปีที่แล้ว องค์ประกอบด้าน “ความคาดหวัง” (expectations) ต่ำสุดตั้งแต่ ต.ค. 2013 มุมมองเศรษฐกิจช่วงปีข้างหน้าดิ่งหนักสุดตั้งแต่เริ่มวิกฤติโควิด มี.ค. 2020 มาตรวัดความคาดหวังด้านการเงินส่วนบุคคลต่ำสุดใน 7 ปี

โควิดกลายพันธุ์ก่อความกังวลมากขึ้น หลายเมืองในสหรัฐกลับมากำหนดให้ใส่หน้ากาก อีเวนท์ถูกยกเลิก บริษัทใหญ่ๆหลายแห่งรวมถึง Alphabet, Amazon และ BlackRock ตัดสินใจเลื่อนแผนกลับเข้าออฟฟิส

ชาวอเมริกันคาดเงินเฟ้อ 3% ในระยะเวลา 5-10 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นจาก 2.8% เมื่อเดือนก่อนและสูงสุดตั้งแต่ปี 2013 ผลสำรวจ 28 ก.ค. – 11 ส.ค. ดังกล่าวซึ่งเผยเมื่อวันศุกร์ยังคาดอีกว่า ดัชนีราคาจะพุ่งทะยาน +4.6% ในช่วง 1 ปีจากนี้

ย้อนกลับไปดู Hard Data กลางสัปดาห์ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ก.ค. รายงานวันพุธ ชะลอเล็กน้อยจนหลายคนหวังว่าเงินเฟ้อสหรัฐอาจผ่านพ้นจุดพีคไปแล้ว แต่กูรูบางรายเตือน “อย่าด่วนสรุป” …ไม่ทันขาดคำ… ข้อมูลต่อมาวันพฤหัสฯ เงินเฟ้อผู้ผลิต (PPI) สูงเกินคาด ตอกย้ำว่าความเสี่ยงสำคัญยังคงอยู่ แถมมีข่าวจีนปิดท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่คับคั่งอันดับ 3 ของโลก เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด ยิ่งซ้ำเติมสภาวะชะงักงันฝั่งอุปทาน หนุนเงินเฟ้อพุ่งต่อ

Stagflation “เศรษฐกิจโตต่ำแต่เงินเฟ้อสูง” จึงเป็นความเสี่ยงใหม่ที่เข้ามาเขย่าอารมณ์นักลงทุน เพราะถึงแม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจอันร้อนแรงของสหรัฐอาจชะลอจากการแพร่ระบาดของโควิดเดลตา ทว่าเงินเฟ้อดูเหมือนจะไม่ลงตามง่ายๆแต่ยัง “เหนียว” (sticky) เพราะหลายปัจจัยทำให้ราคาติดแน่น ณ ระดับสูง อาทิ วัตถุดิบขาดแคลน สินค้าคงคลังต่ำ ขนส่งชะงัก ตลอดจนแพคเกจกระตุ้นของรัฐบาลไบเดน และนโยบายการเงิน “ตามหลังเงินเฟ้อ” (behind the curve) ของเฟด

ตำแหน่งงานในสหรัฐเปิดใหม่เยอะแต่หาคนยาก ประสิทธิผลของแรงงาน (labor productivity) เพิ่มขึ้นมาก +2.3% ในไตรมาส 2 เนื่องจากผลผลิตพุ่งแซงชั่วโมงทำงาน บ่งชี้ว่าบริษัทใช้วิธีรีด output จากลูกจ้างเท่าที่มีอยู่เดิม (เพราะหาคนเพิ่มไม่ทัน) แต่ปรับขึ้นค่าจ้างช้ากว่าอัตราเงินเฟ้อ นักวิเคราะห์บางรายเชื่ออาจเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งซึ่งส่งผลให้ อัตราการลาออก (quit rate) สูงถึง 2.7% (มิ.ย.) เป็นรองแค่ระดับประวัติการณ์ 2.8% ที่เคยทำไว้เมื่อเดือน เม.ย. มองไปข้างหน้า นอกจากปรับปรุงสภาพการทำงานเพื่อดึงดูดคนแล้ว บรรดาธุรกิจคงต้องเพิ่มค่าจ้างให้แรงกว่านี้ด้วย วนกลับไปซ้ำเงินเฟ้อสูงอีกระลอก แต่ขณะเดียวกัน รายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นก็สนับสนุนการบริโภค

Stagflation สุดท้ายคงมีโอกาสเกิดไม่มากนัก ทว่าเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกช่วงเดือนข้างหน้ากำลังเผชิญ 2 ความเสี่ยงสำคัญ โดยนักการเมืองสหรัฐในสภาคองเกรสเตรียม “งัดข้อ” หาจุดลงตัวด้านการคลัง (fiscal fight) เพื่อผ่านร่างงบประมาณและแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เปิดเพดานหนี้ (debt ceiling) หลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานรัฐบาลบางส่วน (government shutdown) ขณะจีนใช้ยาแรงคุมโควิด เป็นปัจจัยถ่วงการเติบโตและซ้ำเติมภาวะอุปทานชะงักงัน เพียงแค่ 2 ประเด็นดังกล่าวก็คงพอกระตุ้น “ต่อมวิตก” ของนักลงทุนจำนวนไม่น้อยให้เปิดเกมเล่น Stagflation Trades พุ่งเข้าใส่สินทรัพย์ที่น่าจะได้ประโยชน์จาก เศรษฐกิจโตต่ำ-เงินเฟ้อสูง อันดับแรกหนีไม่พ้น “ทองคำ” รองๆลงไปคือ สินทรัพย์จริง (real assets) ได้แก่ โภคภัณฑ์ และ อสังหาฯ (ตลาดที่วัคซีนคุณภาพสูงฉีดทั่วถึง) รวมถึงหุ้นของบริษัทที่สามารถผลักภาระต้นทุนไปยังลูกค้า โดยขึ้นราคาขายเพื่อรักษาอัตรากำไรเอาไว้ได้


KTAM World Metals and Mining Fund (KT-MINING) กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโลหะและเหมืองแร่ ลงทุนในหน่วยของ Allianz Global Metals and Mining (กองทุนหลัก) เน้นหุ้นของบริษัทซึ่งมียอดขายและกำไรจากการสำรวจ สกัด หรือแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติจำพวกโลหะที่ไม่มีองค์ประกอบของเหล็ก (เช่น นิกเกิล ทองแดง อลูมิเนียม) และแร่อื่นๆ เหล็กกล้า ถ่านหิน โลหะมีค่า (เช่น ทอง แพลทินัม) เพชร เกลือ และแร่อุตสาหกรรม กองทุนหลักถือหุ้นเหมืองทอง/โลหะมีค่า รวมกันราว 1 ใน 3 ของพอร์ต ณ สิ้นเดือน มิ.ย. KT-MINING จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่ว่า stagflation จะเกิดขึ้นจริงหรือแค่ความกังวล


คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

อ่านบทความอื่นๆ
KTAM Focus : ดอยทอง…ลงทางนี้
KTAM Focus : MINING ซิ่งทุกไมล์