บจ.ถาม กฟภ.รออะไร ???? เตะถ่วงจัดซื้อ-จัดจ้าง Cable Spacer HDPE

บจ. ร้องหาความชอบธรรม  ถาม กฟภ. รออะไร ???  เตะถ่วงโครงการ Cable Spacer HDPE …มีแต่เสียกับเสีย

โครงการที่ดีย่อมก่อประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย เฉกเช่นแนวคิดการเปลี่ยนมาใช้ Cable Spacer HDPE ที่เกิดขึ้นโดย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยมี Cable Spacer HDPE สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วิจัยปรับปรุงวัสดุประเภทพสาสติก โดยมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนจนเป็นผลสำเร็จ

Cable Spacer คือ อุปกรณ์ฉนวนไฟฟ้า ทำหน้าที่ยืดและรองรับสายไฟฟ้าหรือสายเคเบิลอากาศแรงสูง ให้มีระยะห่างระหว่างเส้นที่พอเหมาะในระยะปลอดภัยทางไฟฟ้า ป้องกันเหตุการณ์จากกระแสไฟฟ้าขัดข้องอันเนื่องมาจากสายเคเบิลอากาศไปสัมผัสกันเอง หรือโดนกระทำจากวัสดุอื่น ๆ กิ่งไม้ รวมไปถึงลม และสัตว์รบกวน

ปัจจุบัน Cable Spacer ที่นิยมใช้กันเป็นปกตินับล้านชุดในประเทศไทย ทำมาจากเซรามิก ซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องอายุการใช้งานที่ต้องซ่อมบำรุงหรือเปลี่ยนทุก 2-3 ปีตามสภาพ น้ำหนักต่อชุดสูง ไม่สะดวกในการติดตั้งคราวละมาก ๆ รวมถึงแตกหักชำรุดง่ายเมื่อโดนกระแทก

ขณะที่ Cable Spacer HDPE สร้างจากพสาสติก พอลิเอทีลีน ความหนาแน่นสูง ผสมสารเติมแต่งเพื่อสมบัติพิเศษ ซึ่งผลสำเร็จงานวิจัยฝีมือคนไทยได้เพิ่มคุณสมบัติให้เกิดนวัตกรรมวัสดุที่มีอายุการใช้งานสูงมากกว่า 6 ปี แข็งแรง ทนต่อรังสียูวี หน่วงการล่ามไฟ เบากว่า ต้นทุนผลิตต่ำกว่า และที่สำคัญมีการทดลองใช้จริงในหลายสภาพพื้นที่จริงแล้ว ได้แก่ พื้นที่ไอเกลือเข้มและแดดจัด, พื้นฝุ่นละอองหนาแน่น และพื้นที่อากาศเย็นความชื้นสูงเป็นต้น จากการทดสอบเป็นเวลา 18 เดือน ไม่พบปัญหาใช้งานใด

กฟภ. จึงตัดสินใจมีโครงการนำร่อง เปิดหาผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ ที่มีศักยภาพให้ผลิต-จัดหา Cable Spacer ชนิดใหม่นี้ เพื่อการใช้งานจริงในวงกว้างขึ้น โดยหากมีการเปลี่ยนมาใช้งานอุปกรณ์ชนิดนี้ ย่อมจะเพิ่มความสะดวกและปลอดภัย ต่อกระบวนการส่งกระแสไฟฟ้าทั่วประเทศ ภายใต้ต้นทุนที่ต่ำกว่าเป็นเท่าตัว ยิ่งไปกว่านั้น จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเป็นร้อยล้านบาทต่อปี พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคอุตสาหกรรม และประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ที่มีความเสถียร และปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม กระบวนการจัดซื้อ-จัดจ้าง ของ กฟภ. กลับมีความล่าช้าเกินปกติวิสัยขึ้น โดยหลังจากมีการประกาศจ้างทำ เคเบิลสเปเซอร์ ชนิด HDPE พร้อมตะขอเหล็ก จำนวน 89,480 ชุด

ผลการพิจารณา การจัดซื้อจัดจ้าง เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564   มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) แห่งหนึ่ง เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกแล้ว และอยู่ในสถานะ “อนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง” แล้ว ทว่าจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลาร่วม 4 เดือน ยังไม่มีการลงนามเอกสารสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแต่อย่างใด ทั้งที่ผู้ชนะได้ส่งหนังสือเป็นทางการ สอบถามความคืบหน้าไปแล้ว

โครงการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ ผู้ชนะการประมูลแบบคัดเลือก ได้รับพิจารณาด้วยเหตุผลราคาต่ำสุด และถูกต้องตามเงื่อนไขคัดเลือก มีราคาที่ตกลงซื้อหรือจ้างที่ 65,105,648 บาท

คำถามตัวใหญ่ในตอนนี้คือ กฟภ. รอคอยอะไรอยู่ ? ทั้งที่ของใหม่ที่ดีกว่า และกระบวนการทั้งหมดก็เดินหน้าอย่างโปร่งใส มาจนถึงจุดสุดท้ายไปแล้ว ดังนั้น การรอคอยหรือถ่วงโครงการการลงนามที่ต้องเกิดขึ้น มีแต่เสียกับเสีย ต่อทั้งองค์กรหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเอง ทั้งในเชิงงบประมาณ และความเชื่อมั่นวางใจต่อระบบคัดเลือก

หากไร้คำอธิบายที่มีเหตุผลหนักแน่นพอ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะมีความกังขาถึงผลประโยชน์ทับซ้อนต่อคนบางกลุ่ม ที่อาจได้ประโยชน์จากความยืดเยื้อที่เกิดขึ้น บนความเสียโอกาสประหยัดต้นทุน

นอกจากนี้ ภาคเอกชนผู้ชนะการประมูลไปแล้ว ซึ่งอาจเสี่ยงเสียหายทางธุรกิจ เพราะจำเป็นต้องลงทุนเตรียมทรัพยากรไว้รองรับการผลิตล่วงหน้า อีกทั้ง เอกชนรายอื่นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก็จะพลอยเสียประโยชน์ไปตามกันด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ ไม่พ้นที่จะสะท้อนลงสู่คุณภาพชีวิตประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ให้ได้รับความสะดวกน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น แต่ยังต้องเสียค่าบริการไฟฟ้าไม่ต่างจากเดิม

โปรด !!!! อย่าซ้ำเติมประเทศไทยอีกเลย  ซึ่งในเวลานี้ อยู่ในห้วงวิกฤต  ทางออกง่ายที่สุดคือ ความกล้าตัดสินใจให้เด็ดขาด ไม่พะวงต่อการเปลี่ยนแปลง หรือผลประโยชน์กับพวกพ้อง อันจะก่อผลประโยชน์ลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับ กฟภ. ได้ทันที และโอกาสประหยัดค่าใช้จ่ายมหาศาล ในอุปกรณ์ล็อตถัด ๆ ไปอีกราว 5 แสนตัว ที่จะทยอยต้องเปลี่ยนตามอายุงาน ช่วยให้องค์กรเข้มแข็ง เหลือกำลังทรัพย์ที่จะมาสร้างพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนชาวไทยตาดำ ๆ ที่ใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันทั้งประเทศได้