ANAN จ่อยื่นอุทธรณ์ 30 วัน ‘คดี’ เขย่าแบรนด์-เชื่อมั่น

HoonSmart.com>>ตื่นตะหนก! ผู้ถือหุ้นเทขายหุ้น”อนันดาฯ” ตั้งแต่เปิด ราคาดิ่งเฉียด 15% ก่อนดีดกลับปิดที่ 1.59 บาท “ชานนท์” ยืนยันขออนุญาตก่อสร้างคอนโดฯ หรู โครงการ”แอชตัน อโศก” ถูกต้องตามกฎหมาย เรียกร้องภาครัฐหันมาพูดคุย ยอมรับคำตัดสินของศาลปกครองกลาง กระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรม ความเชื่อมั่นของลูกค้า สถาบันการเงิน นักลงทุน พันธมิตรญี่ปุ่น บริษัทได้สร้างความเข้าใจแล้ว นักวิเคราะห์ 7 รายเห็นตรงกันแนะขายหุ้น คาดคดียืดเยื้อ หุ้นแพงไป ผลงานอ่อนแอ บล.กรุงศรี-ทิสโก้ ตีมูลค่าเพียง 0.90 บาท บล.เอเซีย พลัสหวั่น แบรนด์สินค้า-บริษัทสั่นคลอนกระทบอนาคต

นักลงทุนเปิดฉากถล่มหุ้น ANAN ตั้งแต่เปิดการซื้อขาย ด้วยราคาต่ำสุด 1.50 บาท ก่อนเด้งขึ้นไปสูงสุดที่ 1.66 บาท และปิดที่ 1.59 บาท -016 บาทหรือ -9.14% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 116.79 ล้านบาท วันที่ 2 ส.ค.2564

นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลา 30 วัน ต่อสู้คดีที่ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ แอชตัน อโศก ซึ่งบริษัทพัฒนาและโอนห้องชุดพักอาศัยให้กับลูกบ้านไปแล้ว เพื่อความเป็นธรรม และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่าบริษัทดำเนินการตามถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

นอกจากนี้จะขอคำปรึกษาและความร่วมมือกับสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยและสมาคมอาคารชุดไทย เพื่อช่วยหาทางออกกรณีที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2561 บริษัทยืนยันว่าได้ขออนุญาตก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมายทุกขั้นตอน และไม่ขัด พ.ร.บ.เวนคืนที่ดิน ในส่วนที่ดินที่เป็นทางออก ซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และที่จอดรถของ รฟม.กว้าง 6 เมตรบนถนนอโศก ทางบริษัทได้ให้ค่าตอบแทนรวม 100 ล้านบาทในการขออนุญาตใช้ที่ดินกับ รฟม.เป็นทางผ่านร่วมกันเทียบเท่าทางสาธารณะ โดยได้วางเงินมัดจำกับ รฟม.ไว้ส่วนหนึ่งแล้ว บริษัทจะก่อสร้างอาคารจอดรถ 7 ชั้นติดกับทางออกสถานี MRT สุขุมวิท เพื่อให้ประชาชนที่มาใช้บริการรถไฟฟ้า

“ผมอยากให้ผู้ใหญ่หรือภาครัฐทุกคนหันหน้ามาคุยกับเรา เพราะเรื่องนี้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเราและอุตสาหกรรม อยากให้ภาครัฐช่วยหาทางออก ไม่อยากให้ปัญหานี้ยืดเยื้อ สร้างความไม่สบายใจให้ผม บริษัท ลูกบ้าน แบงก์ นักลงทุน และคนอื่นๆ  รวมถึงไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เพราะไม่ใช่เราโครงการแรกที่สร้างบนพื้นที่ที่ร่วมกับหน่วยงานของรัฐ มีโครงการอื่นๆอีก 13 โครงการในกรุงเทพฯ จะกระทบทั้งหมด และกระทบต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆอีก และทำให้ลูกค้าและนักลงทุนเกิดความกังวลในการเข้ามาลงทุนหรือเลือกซื้อที่อยู่อาศัย ผมจึงต้องการพูดคุย เพื่อสร้างความมั่นใจกลับมา”นายชานนท์กล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกล่าวว่า บริษัทรับทราบถึงความเดือดร้อน ความเสียหาย ความทุกข์ใจของลูกบ้าน เจ้าของร่วม 578 ครอบครัวที่พักอาศัยใน 666 ยูนิตของโครงการแอชตัน อโศก มากว่า 2 ปี รวมถึงครอบครัวชาวต่างชาติอีก 140 ครอบครัว รวมถึงผลกระทบจากระยะเวลาในการพิจารณาตามกระบวนการของศาลปกครองสูงสุดที่อาจจะต้องใช้เวลานานถึง 3-5 ปี แต่ลูกบ้านที่เป็นเจ้าของร่วมทั้งหมดที่ซื้อโครงการยังยืนยันที่จะอยู่อาศัยในโครงการต่อไป

ส่วนพันธมิตรญี่ปุ่น คือ บริษัท มิตซุย ฟูโดซัง ที่ร่วมกันพัฒนาโครงการ แอชตัน อโศก มูลค่า 6.41 พันล้านบาท และอีกหลายๆโครงการ ได้มีการสอบถามเข้ามา  และบริษัทได้ชี้แจง  ซึ่งพันธมิตรญี่ปุ่นก็ได้เข้าใจ แต่ยังไม่เข้าใจในข้อกฎหมายของประเทศไทยอยู่บ้างเล็กน้อย และยังมีความเชื่อมั่นในกระบวนการขออนุญาตก่อสร้างของบริษัทว่าได้ทำอย่างถูกต้อง

นอกจากนี้บริษัทได้พูดคุยทำความเข้าใจกับลูกค้าและสถาบันการเงิน  ซึ่งทุกฝ่ายเข้าใจว่าทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และพร้อมที่จะต่อสู้คดีจนถึงที่สุด แต่บริษัทได้ตัดสินใจเลื่อนแผนการออกหุ้นกู้  2 ชุดในช่วงต้นเดือนส.ค. 2564 ออกไป 1 สัปดาห์ วงเงินรวม 6,000 ล้านบาท เพื่อทำความเข้าใจกับนักลงทุนที่สนใจซื้อหุ้นกู้ของบริษัท สร้างความมั่นใจในตัวของบริษัทให้แก่นักลงทุนเชื่อถือและมองเห็นโอกาสในการลงทุน

บล.กรุงศรี ออกบทวิเคราะห์ว่า โครงการแอชตัน อโศก มีการขายและโอนแล้วราว 85%  ลูกค้าที่ซื้อมีการเซ็นรับทราบข้อพิพาททางกฏหมายในประเด็นทางเข้าออกนี้ เพื่อแลกกับส่วนลดราคา คดีนี้อาจใช้เวลาหลายปีกว่าจะถึงที่สิ้นสุด หากศาลฏีกายืนคำตัดสินตามศาลชั้นต้น เอาจเห็น ANAN ยื่นฟ้องรฟม. และกทม. เนื่องจากข้อตกลงของบริษัทที่ทำกับหน่วยงานของรัฐและกระบวนการอนุญาตที่มิชอบด้วยกฏหมาย รวมถึงการออกใบอนุญาตให้ก่อสร้างทำให้เกิดความเสียหายให้บริษัทและลูกค้าหลายราย เชื่อว่าข้อพิพาทนี้จะจบด้วยการประนีประนอม แต่หากศาลมีคำพิพากษาให้รื้อถอนอาคาร มองว่าบริษัทจะต่อสู้ทางกฏหมายซึ่งทาง รฟม.และ หน่วยงาน กทม. อาจ
ต้องชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

“เราคงคำแนะนำ ขายหุ้น ANAN บนราคาเป้าหมาย 0.90 บาท เรามองหุ้นซื้อขายที่ระดับ P/E ที่สูงไม่สอดคล้องกับผลประกอบการที่อ่อนแอและเผชิญ
แรงกดดันจากคดีความ”บล.กรุงศรีระบุ

บล.เอเซียพลัส ยังคงแนะนำ”ขาย” จากSentiment เชิงลบ และราคาหุ้นเกินมูลค่าเหมาะสมปีนี้ที่ 1.14 บาท รวมถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2564 ยังคงอ่อนแอทั้งในเชิงยอดโอนและมาร์จิ้น และราคาหุ้นที่มี P/E ซื้อขาย 12 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มไม่ถึง 10 เท่า

ทั้งนี้แม้คำตัดสินของศาลปกครองกลางยังไม่ถึงที่สุด แต่ประเด็นข่าวสร้างกระแสเชิงลบด้านจิตวิทยาในหลายส่วน โดยเฉพาะความเชื่อมั่นต่อแบรนด์สินค้าและบริษัทย่อมกระทบต่อการสร้างยอดขายใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งจากโครงการเดิมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและโครงการใหม่ที่เตรียมเปิดขายในครึ่งปีหลัง มีโอกาสถูกเลื่อนออกไปจนกว่าจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนอีกครั้ง

บล.ทรีนีตี้วิเคราะห์ว่าคดีนี้ไม่มีผลกระทบต่อคาดการณ์รายได้ปีนี้เนื่องจาก stock ที่เหลือขาย มีมูลค่าราว 900 ล้านบาท และเป็นโครงการร่วมทุน ซึ่งหากนับเพียงสัดส่วนที่ ANAN ถือหุ้นจะนับเป็นเพียง 5%ของ คาดการณ์ส่วนแบ่งจากการร่วมทุนที่คาดว่าในปี 2564 จะอยู่ที่ 969 ล้านบาท แต่คาดว่าจะกระทบต่อ sentiment ราคาหุ้นในระยะสั้น และกระทบต่อความมั่นใจของลูกค้าที่จะซื้อโครงการในอนาคตของ ANAN และยังคงแนะนำ “ถือ” ที่ราคาเป้าหมาย 1.18 บาท

บล.เคจีไอวิเคราะห์ว่า หากมีการ write-off โครงการนี้อาจจะส่งผลกระทบกับแผนการขยายธุรกิจในระยะยาว เพราะในกรณีเลวร้ายที่สุดจะทำให้บริษัทอนันดาฯบันทึกผลขาดทุนก้อนใหญ่