วิจัยกรุงศรีชี้”การแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตา”ฉุดศก.ไทยโตต่ำกว่า2%

HoonSmart.com>>วิจัยกรุงศรีชี้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงขาลงเพิ่มสูงขึ้นมีโอกาสขยายตตัวต่ำกว่า 2% จากสถานการณ์การแพร่ระบาดขยับเข้าสู่กรณีเลวร้ายสุดมากขึ้น

วิจัยกรุงศรีรายงานว่า การยกระดับมาตรการควบคุมการระบาดในกรุงเทพฯและปริมณฑลเข้มขึ้น กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นในไตรมาสสาม ในเดือนมิถุนายน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อยู่ที่ 43.1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์หรือนับตั้งแต่เริ่มสำรวจในเดือนตุลาคม 2541 และลดลงจาก 44.7 เดือนพฤษภาคม เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี ที่ 80.3 จาก 82.3 เดือนเมษายน สาเหตุหลักจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกสามที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ในระดับสูง และพบการระบาดเป็นคลัสเตอร์ๆ ในกลุ่มแรงงานก่อสร้างและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงความกังวลการฉีดวัคซีนที่ยังมีความล่าช้า

การแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตาในประเทศไทย ทำให้สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เป็นที่น่ากังวล ล่าสุดทางการประกาศยกระดับมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นกับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (10 จังหวัดสีแดงเข้ม) โดยเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล (นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) จะมีการจำกัดการเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมของบุคคลให้มากที่สุด โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฏาคมนี้

ความเชื่อมั่นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจึงเผชิญความเสี่ยงขาลงมากขึ้น และกระทบต่อประมาณการ GDP ไทยในปีนี้จากเดิมที่คาดไว้ที่ 2% เนื่องจากสถานการณ์การระบาดได้เข้าสู่กรณีเลวร้ายสุดของแบบจำลองที่วิจัยกรุงศรีประมาณการไว้ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันใกล้แตะระดับ 10,000 ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ภายใต้สมมติฐานว่าการติดเชื้อของไทยในระยะข้างหน้ามีสาเหตุหลักจากเชื้อสายพันธุ์เดลตาและเบตา

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การคาดการณ์เป้าหมายการฉีดวัคซีนไว้ที่ 250,000 โดสต่อวันจนถึงสิ้นปีนี้ ผนวกกับผลของมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้นล่าสุด คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะลดลงอย่างช้าๆ นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของวัคซีนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง โดยเฉพาะภายหลังจากเดือนกันยายนซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วเป็นอย่างน้อยที่ 25-30 ล้านคน หรือราว 40% ของประชากร

ในช่วงครึ่งหลังของปี แม้อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานที่ยังทรงตัวในระดับสูง และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์บางชนิดตามการฟื้นตัวของอุปสงค์โลก แต่การเพิ่มขึ้นค่อนข้างจำกัด เนื่องจาก สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศที่ยังคงรุนแรงและเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศ จึงคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนจะเพิ่มขึ้นแตะขอบล่างของกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายในช่วงปลายปีนี้ สะท้อนแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำเอื้อต่อการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องท่ามกลางเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัว