SOMPO เปิดตัวประกันภัยอ้อยเจ้าแรกในเมืองไทย นำร่องพื้นที่ จ.ชัยภูมิ

HoonSmart.com>>บมจ. ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จับมือ Productive Plus เปิดตัวโครงการกรมธรรม์ประกันภัยพืชผลอ้อยจากภัยแล้ง โดยใช้ดัชนีฝนแล้งและตรวจวัดด้วยดาวเทียม นำร่องลุยพื้นที่เกษตรไร่อ้อยจังหวัดชัยภูมิ ตั้งเป้าขยายช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศ

ผศ.ชญณา ศิริภิรมย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย)(SOMPO) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกมีความแปรปรวนสูง โดยภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการสร้างภูมิคุ้มกันและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการผลิต ทางซมโปะ ประกันภัย จึงร่วมกับ Productivity Plus หรือบริษัท เพิ่มผลผลิต จำกัด และบริษัท มารูเบนิ (ประเทศไทย) จำกัด ออกแบบกรมธรรม์ประกันภัยพืชผลอ้อยจากภัยแล้ง โดยใช้ดัชนีฝนแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยมีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงและบรรเทาความเดือนร้อนจากภัยธรรมชาติ

“บริษัท มารูเบนิ ได้ร่วมมือกับซมโปะ ประกันภัยพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยการประกันภัยพืชผลอ้อยจากภัยแล้ง โดยใช้ดัชนีฝนแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) คิดอัตราค่าเบี้ยประกันภัยตามขนาดของพื้นที่ของเกษตรกร ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย และทำให้ธุรกิจเกษตรในเครือสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”

สำหรับรูปแบบการรับประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัยการประกันภัยพืชผลอ้อยจากภัยแล้ง โดยใช้ดัชนีฝนแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) ซมโปะจะใช้ข้อมูลน้ำฝนจากระบบดาวเทียม GSMAP โดยศูนย์ข้อมูลดาวเทียมของ The Remote Sensing Technology Center of Japan (RESTEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับในประเทศญี่ปุ่น โดยมีเกณฑ์ของการจ่ายค่าชดเชยตามกรมธรรม์ดังนี้

1. ถ้าปริมาณน้ำฝนสะสมที่ตกจริงสูงกว่าค่าดัชนีน้ำฝนสะสมที่กำหนดไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับภัยแล้ง ถือว่าไม่เกิดภัยแล้ง จะไม่มีการจ่ายค่าชดเชยใดๆ

2. ถ้าปริมาณน้ำฝนสะสมที่ตกจริงเท่ากับหรือต่ำกว่าค่าดัชนีน้ำฝนสะสมที่กำหนดไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับภัยแล้ง ให้คำนวณค่าชดเชยโดยใช้อัตราค่าชดเชยในกรณีเกิดภัยแล้ง คูณด้วย จำนวนเงินค่าชดเชยที่ระบุไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งเงินจำนวนนี้ถือเป็นค่าชดเชยสำหรับภัยแล้ง แต่จะชดเชยไม่เกินดัชนีฝนแล้งขั้นต่ำ (Exit Point) ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย

3. การชดเชยนี้จะยึดตามดัชนีน้ำฝนที่วัดโดย RESTEC โดยไม่มีการประเมินความเสียหายจริงของพืชที่เอาประกันภัย

“เรามุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้สังคมไทย ผ่านการช่วยเหลือเกษตรกรจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งหรือน้ำท่วม โดยพื้นที่เป้าหมายนำร่องในการรับประกันภัยครั้งนี้ คือ ชาวไร่อ้อยจังหวัดชัยภูมิที่ซื้อปุ๋ยจาก Productivity Plus และในอนาคตจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ อันเป็นการสนับสนุนการพัฒนาภาคการเกษตรซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดของไทยตามสโลแกน “ดูแลคนไทยด้วยหัวใจญี่ปุ่น”ผศ.ชญณา กล่าว