กรมปศุสัตว์ ย้ำชี้แจงเวียดนาม หมูไทยปลอดเชื้อ ASF

กรมปศุสัตว์  ย้ำชี้แจงเวียดนามแล้ว ยืนยันหมูไทยตรวจไม่พบเชื้อ ASF พร้อมยกระดับ 7 มาตรการป้องกันเข้มข้น

 

สรวิศ ธานีโต

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งหนังสือชี้แจงไปยังเวียดนามทันที ยืนยัน ไม่พบเชื้ออหิวาต์แอฟริกา ในหมูไทย ( ASF )  พร้อมตรวจสอบข้อมูลการสุ่มตรวจโรค ASF อย่างละเอียดอีกครั้ง ก็ไม่พบเชื้อในตัวอย่างแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน ได้ยกระดับมาตรการตรวจสอบสุกรมีชีวิต ก่อนการส่งออกให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยส่งหนังสือแจ้งผู้ประกอบการ ส่งออกสุกรทุกราย ว่า สุกรมีชีวิตทุกชนิดที่จะส่งออกไปเวียดนาม ต้องได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ที่ด่านกักกันสัตว์ท่าส่งออก ก่อนอนุญาตให้ส่งออก

โดยสุ่มเก็บตัวอย่างสุกรบนรถขนสุกรทุกคัน บริเวณจุดขนถ่ายสุกรที่ท่าส่งออกหรือจุดที่ด่านกักกันสัตว์กำหนด 10 ตัวอย่าง ต่อคัน มีผลบังคับใช้ในทันที เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศคู่ค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศคู่ค้าถึงการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขภาพสุกรของไทย

“การระงับของเวียดนาม เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนเดิม  เมื่อชี้แจงไปยังเวียดนามแล้ว มีความเข้าใจดี เชื่อว่า เวียดนามจะกลับมานำเข้าหมูไทยอีกในเร็ว ๆ นี้ ขอยืนยันว่า การเลี้ยงสุกรของไทย มีมาตรฐานและมีมาตรการในการป้องกันโรค ASF เพื่อให้ไทยคงสถานะปลอดโรคนี้ โดยเน้นย้ำเกษตรกรผู้เลี้ยง และผู้ประกอบการ ยกระดับมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวดอยู่แล้ว ให้ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ยกระดับการป้องกันให้เข้มข้นขึ้น โดยกำหนดมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรค ASF 7 ด้าน ได้แก่ 1. เร่งรัดติดตามการขึ้นทะเบียนผู้รวบรวมสุกรหรือพ่อค้าคนกลาง (broker) ในแต่ละจังหวัดให้เสร็จโดยเร็ว

2. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเคลื่อนย้ายให้ง่ายต่อการปฏิบัติและให้มีประสิทธิภาพต่อการป้องกันโรค โดยผ่านคณะอนุกรรมการวิชาการ ให้ออกมาตรการโดยเร็วที่สุด

3. ชี้แจงมาตรการและหลักเกณฑ์การเคลื่อนย้ายสุกรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 4. กองสารวัตรและกักกัน ให้เข้มงวดการตรวจสอบสุกร และผลิตภัณฑ์สุกรที่จะส่งออกไปต่างประเทศ โดยให้ดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่าง ณ ด่านขาออก หากพบสัตว์ผิดปกติให้ดำเนินการตามที่กรมปศุสัตว์กำหนดอย่างเข้มงวด

5. สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการพิจารณาการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกัน ASF 6. สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ รวบรวมและแจ้งรายชื่อโรงฆ่าสัตว์ ที่รองรับการบริหารจัดการ การดำเนินการ ลดความเสี่ยงต่อโรคภายในจังหวัด ส่งให้ปศุสัตว์จังหวัดดำเนินการ

7. บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด หากพบการกระทำผิด แจ้งข้อมูลที่แอปพลิเคชั่น DLD 4.0 หรือสายตรงผู้บริหารกรมโดยตรง