BTS จับมือ 10 องค์กรชั้นนำ ก่อตั้ง ”Carbon Markets Club” ครั้งแรกในไทย

HoonSmart.com>>บีทีเอส กรุ๊ปฯ จับมือ 10 องค์กรชั้นนำ ก่อตั้ง Carbon Markets Club ครั้งแรกในประเทศไทย ส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอน และช่วยลดก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่สังคม Net Zero

บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (บีทีเอส กรุ๊ปฯ)ร่วมก่อตั้งเครือข่าย Carbon Markets Club ลงนามออนไลน์ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และใบรับรองสิทธิในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบดิจิทัลกับ 10 องค์กรชั้นนำ เพื่อสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และใบรับรองสิทธิในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบดิจิทัล ลดก๊าซเรือนกระจกเป็นครั้งแรกในประเทศไทยรวมถึงเป็นการสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอน ในการมุ่งสู่สังคมการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ระหว่างพันธมิตรรวม 11 องค์กร ได้แก่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS), บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, บริษัท บีซีพีจี (BCPG), บริษัท บีบีจีไอ, บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ , บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย , ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY), บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) และบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด

นายดาเนียล รอสส์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการลงทุนและหัวหน้าฝ่ายพัฒนาเพื่อความยั่งยืน BTS กล่าวว่า บีทีเอส กรุ๊ปฯ เห็นว่าการซื้อขายคาร์บอน จะเป็นหนึ่งในการดำเนินการที่สำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ซึ่งการจัดตั้งเครือข่าย Carbon Markets Club ในวันนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถเตรียมตัวรับมือกับความท้าทาย และโอกาสทางการค้าในรูปแบบใหม่ๆ ได้

“กลุ่มบริษัทบีทีเอสของเรา ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เพราะสภาพภูมิอากาศถูกกระทบอย่างหนักจากภาวะโลกร้อน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขร่วมกันอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม กลุ่มบริษัทบีทีเอส น้อมรับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) โดย UN SDG 13 ให้เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของเรา รวมทั้งมีนโยบายในการเป็นผู้นำในการลดคาร์บอนในภาคคมนาคมขนส่งในประเทศไทย เพื่อช่วยลดปัญหาโลกร้อนอีกทางหนึ่ง”นายดาเนียล กล่าว

ทั้งนี้ พันธมิตรทั้ง 11 องค์กร มีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนเครดิตในระบบ T-VER โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งการซื้อขายในปัจจุบันยังเป็นรูปแบบซื้อขายกันโดยตรง (over the counter) แต่สมาชิกเครือข่ายฯ มีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาการซื้อขายไปสู่ platform ระบบดิจิทัลเพื่อความรวดเร็วและทันสมัยรองรับตั้งแต่การทำ e-registration กับหน่วยงานผู้ขึ้นทะเบียนและให้การรับรอง ไปจนถึงการทำ e-carbon trading และอาจจะนำ blockchain มาใช้ในการซื้อขาย สู่การทำธุรกรรมทางการเงินแบบกระจายศูนย์ หรือที่เรียกกันว่า DeFi หรือ decentralised finance ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น

นอกจากนี้ทางเครือข่ายฯ ยังได้รับเกียรติจากผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ร่วมแสดงความยินดีกับการก่อตั้งเครือข่ายฯ และสนับสนุนให้เกิดโอกาสที่จะขยายเครือข่ายฯ ไปในวงกว้างขึ้น เพื่อให้บริษัทจดทะเบียน รวมถึงบริษัทสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จากภาคธุรกิจต่าง ๆ เข้าร่วมด้วยในอนาคต