กรุงศรีคาดไทยติดเชื้อต่ำกว่า 100 กลางเดือนส.ค.หากฉีดวัคซีน 2.5-2.7แสนโดสต่อวัน

HoonSmart.com>>ฝายวิจัยธนาคารกรุงศรี ระบุ หากรัฐฉีดวัคซีนได้ 2.5-2.7 แสนโดสต่อวัน กลางเดือนส.ค. ผู้ติดเชื้อจะต่ำกว่าวันละ 100 คน รับเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนคงจีดีพีที่ 2% คาดนโยบายการเงินตรึงดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องถึงสิ้นปีหน้า

วิจัยกรุงศรี ระบุว่า จากแผนการปูพรมฉีดวัคซีนทั่วประเทศที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน หากมีการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 250,000-270,000 โดสต่อวัน (เทียบกับค่าเฉลี่ยปัจจุบันที่ 247,212 รายต่อวัน ในช่วงระหว่างวันที่ 7-20 มิถุนายน) จะทำให้ประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนได้ทั้งสิ้น 55 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้

และคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอาจทยอยลดลงหลังเดือนกรกฎาคม และมีแนวโน้มลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 รายต่อวันได้ในราวกลางเดือนสิงหาคม (จากเดิมคาดปลายเดือนสิงหาคม) การฉีดวัคซีนที่เร่งขึ้นกว่าหลายเดือนก่อน ช่วยลดความเสี่ยงด้านขาลงต่อเศรษฐกิจ แต่วิจัยกรุงศรียังคงคาดการณ์ GDP ปีนี้เติบโตที่ 2% เนื่องจากหลายปัจจัยยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดทั่วโลก ความเพียงพอและการกระจายวัคซีน รวมทั้งความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนที่อาจไม่เป็นไปตามแผนที่คาดการณ์ไว้

จับตาการปรับประมาณการเศรษฐกิจของธปท.ในสัปดาห์นี้ ขณะที่วิจัยกรุงศรีคาดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)จะตรึงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อเนื่องในปีนี้และปีถัดไป การประชุมกนง.ที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ ซึ่งจะเป็นรอบที่มีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ครั้งล่าสุดธปท.คาดการณ์ GDP บนสมมติฐานการจัดหาและการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยกรณีจัดหาวัคซีนและฉีดได้ที่ 100 ล้านโดส (สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในไตรมาส 1/2565) GDP ปีนี้จะขยายตัวที่ 2.0% และกรณีมีการฉีดวัคซีนได้ที่ 64.6 ล้านโดส (ไตรมาส 3/2565) GDP จะขยายตัวเหลือเพียง 1.5%

วิจัยกรุงศรีประเมินว่า จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่สม่ำเสมอ ดังนั้น จึงคาดว่าประเทศไทยยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง โดยกนง.มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2564 และปี 2565

สำหรับภาวะเศรษฐกิจโลก วิจัยกรุงศรีคาดว่าเฟดประกาศแผนปรับลด QE ในไตรมาสที่ 4 ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่อไป ขณะที่การค้าปลีกของจีนอาจมีบทบาทหนุนการฟื้นตัวได้มากขึ้น