บจ.ดิ้นขาย-เพิ่มธุรกิจใหม่ KOOL ซื้อ “การเงิน-อสังหาฯ”

HoonSmart.com>>วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน สร้างความเสียหายให้กับบริษัทจดทะเบียนบางแห่งอย่างรุนแรง และเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจที่ทำอยู่ในขณะนี้ซวนเซอย่างหนัก หากต้องการเดินหน้าต่อไป จะต้องหาธุรกิจใหม่เข้ามาแทน หรือเข้ามาเสริม เช่นเดียวกับบริษัท มาสเตอร์คูล อินเตอร์เนชั่นแนล (KOOL) บอร์ดมีมติให้เพิ่มทุนนำไปแลกซื้อกิจการ บริษัทสาทรสินทรัพย์ และบริษัทแคปปิตอล ลิ้งค์ อุดรธานี หวังแตกไลน์ต่อยอดสู่ธุรกิจการเงิน-อสังหาริมทรัพย์

ล่าสุดคณะกรรมการบริษัท KOOL มีมติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 180 ล้านบาท เป็น 312.50 ล้านบาท ออกหุ้นใหม่ 530 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท รวม 132.50 ล้านบาท ในราคาไม่ต่ำกว่า 0.60 บาทต่อหุ้น แลกกิจการทั้งหมดของบริษัท สาทรสินทรัพย์ จำนวน 102.13 ล้านหุ้น มูลค่า 61.278 ล้านบาท และนายเกรียงไกร ศิระวณิชการ จำนวน 170.35 ล้านหุ้น เพื่อชำระค่าหุ้นบริษัท แคปปิตอล ลิ้งค์ อุดรธานี มูลค่า 102.21 ล้านบาท รวมถึงบุคคลในวงจำกัดอื่นอีก 257.52 ล้านหุ้น โดยจะเสนอให้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ วันที่ 6 ส.ค. 2564 ซึ่งวาระนี้เคยมีการบรรจุเข้าสู่การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 แต่ได้ยกเลิกไป เนื่องจากบริษัทจัดเตรียมข้อมูลและเอกสารไม่ทัน

“ธุรกิจการเงินและอสังหาริมทรัพย์ เป็นธุรกิจใหม่ของ KOOL ที่มีอัตรากำไรสูง มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในอนาคต และยังช่วยต่อยอดธุรกิจหลัก จำหน่ายพัดลมไอน้ำ พัดลมไอเย็น ที่มีการแข่งขันรุนแรง”

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของกลุ่มบริษัทแคปปิตอล ลิ้งค์ สามารถเติบโตได้ หากมีเงินทุนที่เพียงพอ ซึ่งบริษัทฯ จะจัดหาเงินทุนเข้ามาให้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจใหม่ โดยจะมุ่งเน้นการขยายสินเชื่อเป็นหลัก ขณะเดียวกันบริษัทยังคงดำเนินธุรกิจจำหน่ายพัดลมไอน้ำ และพัดลมไอเย็นต่อไป เดินหน้าออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับการปรับปรุงคุณภาพอากาศ ซึ่งบริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับกลุ่มบริษัทแคปปิตอล ลิ้งค์ เช่น โครงการพัฒนาระบบปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคาร ทำให้ไม่มีฝุ่นขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย (PM 2.5) ภายในอาคาร, ลดปริมาณคาร์บอไดออกไซด์ และเพิ่มปริมาณออกซิเจนภายในอาคาร, กรองเชื้อโรคในอากาศ และลดปริมาณสารระเหยอินทรีย์ (VOC-Volatile Organic Carbon) เป็นต้น ซึ่งจะช่วยสร้างเพิ่มมูลค่าเพิ่มและสร้างความแตกต่างให้แก่อาคารสิ่งปลูกสร้าง โดยเฉพาะอาคารพักอาศัย ซึ่งกลุ่มบริษัทแคปปิตอล ลิ้งค์ มีอสังหาริมทรัพย์ที่พร้อมพัฒนาจำนวนมาก และมีบริษัทที่เกี่ยวข้องประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยเพื่อขายอีก ทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีตลาดรองรับที่แน่นอน

ขณะเดียวกัน บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (IND) ที่มีรายได้ส่วนหนึ่งจากการออกแบบพร้อมก่อสร้างคลังน้ำมันทั่วประเทศไทย ล่าสุดบอร์ดอนุมติให้ใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน นำไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ (FPT) จำนวน 7 ล้านหุ้น สัดส่วน 0.70% ในราคาหุ้นละ 7.50 บาท มูลค่ารวมไม่เกิน 52.5 ล้านบาท

ส่วนบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ตัดสินใจขายหุ้น บริษัท สยาม ไฟเบอร์ อ๊อพติคส์ (SFO) จำนวน 2.4 ล้านหุ้น คิดเป็น 10% ในราคาหุ้นละ 3.125 บาท เป็นเงิน 7.5 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้ขายให้กับใครที่ไหน บริษัท จรุงไทยไวร์แอนด์เคเบิ้ล (CTW) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่แล้ว 89.99% ซื้อเพิ่มเป็น 99.99% ทั้งนี้ ยอมขายขาดทุนจากพาร์หุ้นละ 10 บาท

SFO ประกอบธุรกิจหลักในการผลิตจำหน่ายและบริการติดตั้งใยแก้วนำแสง มีผลขาดทุนสุทธิติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี (2561-2563) จำนวน 34.79 ล้านบาท 31.15 ล้านบาท และ 3.78 ล้านบาทตามลำดับ

ด้านบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) เดินหน้าซื้อธุรกิจในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง  เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมาได้ปิดดีล ซื้อสินทรัพย์ที่ใช้ในการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (rPET) ของบริษัท CarbonLite Holdings LLC และบริษัทย่อย ในรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา มูลค่าประมาณ 68.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่าประมาณ 2,119.997 ล้านบาท) เชื่อว่า IVL ยังคงประกาศข่าวๆดีเรื่องการซื้อกิจการ รวมถึงการขยายการลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงในตำแหน่งผู้นำธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจรของโลก สร้างกำไรเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว