HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยให้แนวรับที่ 1,600 และ 1,590 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,625 และ 1,635 จุด ตามลำดับ ด้านธนาคารกสิกรไทยให้กรอบค่าเงินบาท ที่ 31.15-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามติดสถานการณ์โควิด-วัคซีน จับตาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน
บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย มองหุ้นสัปดาห์ถัดไป (7-11 มิ.ย.) ดัชนีมีแนวรับที่ 1,600 และ 1,590 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,625 และ 1,635 จุด ตามลำดับ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด 19 ตลอดจนการควบคุมสถานการณ์การระบาดและการกระจายวัคซีนโควิด 19 ในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน หลังสหรัฐฯ มีคำสั่งห้ามลงทุนในบริษัทจีนเพิ่มเติม
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศเดือนเม.ย. รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การประชุม ECB ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/64 ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ค. ของจีน
หุ้นปิดสูงกว่าสัปดาห์ก่อน แต่ช่วงบวกเริ่มจำกัดช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,611.53 จุด เพิ่มขึ้น 1.87% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 100,913.11 ล้านบาท ลดลง 8.78% ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 3.63% มาปิดที่ 497.61 จุด
ช่วงต้นสัปดาห์หุ้นดีดตัวขึ้นท่ามกลางแรงหนุนจากความหวังในการเร่งฉีดวัคซีนในประเทศ รวมถึงมาตรการเพิ่มเติมจากภาครัฐเพื่อลดภาระค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด 19 ซึ่งกระตุ้นแรงซื้อหุ้นหลายกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มพลังงานที่มีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันโลก
อย่างไรก็ดี หุ้นลดช่วงบวกลงเล็กน้อยในเวลาต่อมาตามแรงขายหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ รวมถึงสัญญาณระมัดระวังของนักลงทุนระหว่างรอติดตามประเด็นการกระจายวัคซีนในประเทศอย่างใกล้ชิด
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (7-11 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวที่ 31.15-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ
เงินบาททยอยอ่อนค่าในช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค ประกอบกับมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากสัญญาณซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดีเงินบาทลดช่วงบวกลง และทยอยอ่อนค่ากลับมาในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ อาทิ ข้อมูล PMI และตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือนพ.ค. กระตุ้นความกังวลของตลาดเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และหนุนให้บอนด์ยีลสหรัฐฯ และค่าเงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวขึ้น
ในวันศุกร์ (4 มิ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.26 เทียบกับระดับ 31.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (28 พ.ค.)