ESOP for SME : เปลี่ยนพนักงานเป็น “ผู้ถือหุ้น” เพิ่มแรงจูงใจให้เติบโตไปด้วยกัน


โดย นายไพบูลย์ ดำรงวารี
ผู้อำนวยการฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ 2
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

 
 

“ทำอย่างไรถึงจะดึงดูดคนเก่งให้มาทำงานด้วย และจะรักษาพนักงานคนเก่งนั้นไว้ได้อย่างไร”

ทั้งสองคำถามนี้น่าจะเป็น “เรื่องใหญ่” สำหรับกิจการขนาดเล็ก เช่น SME หรือ Startup ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ เพราะหากจะจูงใจพนักงานด้วยเงินเดือนสูง ๆ สวัสดิการดี ๆ เหมือนกิจการขนาดใหญ่ ก็อาจทำได้ไม่ง่ายเพราะทุกบาททุกสตางค์มีความหมายต่อการเติบโต หรือแม้กระทั่งการอยู่รอดของธุรกิจ เช่นนั้นแล้ว SME ควรทำอย่างไรที่จะจูงใจพนักงานที่มีศักยภาพให้เข้ามาร่วมงานกับกิจการ และรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพ มีศักยภาพให้อยู่กับบริษัทไปนาน ๆ

สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพทางการเงินที่แข็งแกร่ง การเพิ่มสิ่งตอบแทนหรือสวัสดิการเพื่อรักษาพนักงานคุณภาพเอาไว้อาจทำได้ไม่ยาก โดยหนึ่งในสวัสดิการที่ “บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์” นิยมนำมาใช้เพื่อช่วยสร้างแรงจูงใจให้พนักงานมุ่งมั่นทุ่มเททำงาน คือ ESOP

ESOP หรือ Employee Stock Option Program คือ สวัสดิการในรูปแบบหนึ่ง ที่กิจการออกและเสนอขายหุ้นของกิจการให้แก่พนักงาน เพื่อให้มีส่วนร่วมและมีสิทธิในฐานะเจ้าของกิจการคนหนึ่งด้วย และเมื่อกิจการมีผลกำไรที่ดี มีการเติบโตมากขึ้น และจ่ายเงินปันผลได้ นอกจากนี้ หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อาจมีราคาปรับสูงขึ้น พนักงานในฐานะผู้ถือหุ้นของกิจการก็จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นแรงกระตุ้นให้พนักงานทำงานด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเท และมีความผูกพันกับกิจการ

แต่เดิมธุรกิจ SME หรือ Startup ยังไม่สามารถเลือกใช้ ESOP ได้ จนเมื่อต้นปี 2563 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกหลักเกณฑ์ PP-SME ซึ่งเปิดโอกาสให้บริษัทจำกัดสามารถขาย ESOP ให้กับกรรมการและพนักงาน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการจูงใจบุคลากรที่มีศักยภาพให้อยู่ร่วมงานกับกิจการได้

SME ที่เป็นบริษัทจำกัดซึ่งเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการระดมทุนผ่านตลาดทุน ระหว่าง ก.ล.ต. และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)* สามารถเสนอขาย ESOP ให้กรรมการและพนักงานของกิจการและบริษัทย่อย รวมถึงนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นเพื่อถือหุ้นแทนกิจการสำหรับการจัดสรรหุ้นให้แก่กรรมการและพนักงาน (SPV) โดยไม่จำกัดวงเงิน ไม่จำกัดจำนวนผู้ลงทุน และไม่ต้องยื่นเอกสารคำขออนุญาตต่อ ก.ล.ต. เพียงแต่ต้องแจ้งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับกิจการให้พนักงาน และรายงานผลการขายให้ ก.ล.ต. ทราบเท่านั้น

ESOP จึงเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับ SME ที่ต้องการ Option ช่วยเพิ่มความน่าสนใจและจูงใจคนที่มีศักยภาพในการเข้ามาร่วมงาน นอกจากนี้ ในบางครั้งการได้รับเงินเดือนสูง ๆ อาจจะไม่สามารถจูงใจพนักงานที่มีศักยภาพได้มากเท่ากับการทำให้เห็นโอกาสประสบความสำเร็จ มีเป้าหมายร่วมกันที่จะเรียนรู้ พัฒนา และเติบโตไปพร้อมกันในฐานะ “ผู้ถือหุ้น”เพราะ SME เป็นหนี่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่เป็น SME อยู่กว่า 3.1 ล้านราย มีการจ้างงานทั่วประเทศมากกว่า 12 ล้านคน และยังเป็นแหล่งพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ทั้งนี้ มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (GDP SME) ในไตรมาส 4 ของปี 2563 สูงถึง 1.42 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 34.3% ของ GDP ประเทศไทย**

ก.ล.ต. จึงมุ่งหวังให้ตลาดทุนเป็นแหล่งเงินระดมทุนสำหรับกิจการทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SME ซึ่งเป็นรากฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ให้สามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่ไม่สูงจนเกินไป ควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม

หมายเหตุ
* ศึกษารายละเอียดการเสนอหลักทรัพย์ต่อบุคคลในวงจำกัด (PP) ของ SME เพิ่มเติมได้ที่ https://www.sec.or.th/TH/Pages/LAWANDREGULATIONS/SME-PP.aspx
** รายงาน GDP MSME ไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 โดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
(https://www.sme.go.th/upload/mod_download/download-20210315133627.pdf)

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์