ตามคาด บอร์ดกนง.มีมติคงดอกเบี้ย 1.50% นโยบายการเงินผ่อนคลายหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่งสัญญาณตึงดอกเบี้ยจะลดความสำคัญลง สั่งติดตามการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นโดยประเมินความเสี่ยงต่ำ การแข่งขันสินเชื่อบ้านดุเดือด อาคารชุดเหลือในบางพื้นที่ ภาระหนี้ครัวเรือนไม่ดีขึ้น ความสามารถชำระหนี้ของเอสเอ็มอี
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดย 1 เสียง เห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็น 1.75% เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความชัดเจนเพียงพอ และภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว และเพื่อเริ่มสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) สำหรับอนาคต
ส่วนเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุม กนง.เห็นควรคงดอกเบี้ย ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตามแรงส่งจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานาน
“นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบัน มีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ แต่ที่ประชุมคาดว่าความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายจะลดลงในระยะต่อไป”นายจาตุรงค์กล่าว
ขณะเดียวกัน ที่ประชุม กนง.มีการหารือติดต่อกันเป็น 2 ครั้งว่าในระยะต่อไปความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินระดับผ่อนคลายจะลดน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งขณะนี้กำลังซื้อทยอยปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนก่อนที่มีปัญหาการส่งผ่านการขยายตัวเศรษฐกิจ ทั้งการส่งออกและการลงทุน ที่ยังกระจายไปไม่ถึงการใช้จ่ายภาคครัวเรือน แต่ขณะนี้กลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลาง ระดับสูงใช้จ่ายดีขึ้น ส่วนระดับล่างแม้จะยังไม่ดีเท่า แต่ก็เริ่มเห็นการบริโภคสินค้าไม่คงทนปรับตัวดีขึ้น
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต แม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้เต็มศักยภาพ อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง สำหรับการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนโดยรวมค่อนข้างทรงตัว
ทางด้านภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทรงตัวใกล้เคียงเดิม ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาคเอกชนยังระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อขยายตัวต่อเนื่องทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค
ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวผันผวนจากทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก รวมทั้งความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้า โดยค่าเงินบาทมีทิศทางสอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค ในระยะข้างหน้าอัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวน คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป
ปัจจุบันระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) รวมถึงภาวะการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและภาวะอุปทานคงค้างของอาคารชุดในบางพื้นที่อย่างใกล้ชิด รวมทั้งพฤติกรรมการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน เนื่องจากสถานะหนี้ครัวเรือนยังไม่ปรับตัวดีขึ้น และติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการทำธุรกิจ