บล.กสิกรฯ ติดตามโควิดกดดันหุ้น แนวรับ 1530,1500 จุด สัปดาห์หน้า

HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยคาดหุ้นสัปดาห์หน้ายังแกว่งตัวตามสถานการณ์โควิดใน-ต่างประเทศ  ด้านธนาคารกสิกรไทยคาดค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.20-31.50 บาท 

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยคาดหุ้นสัปดาห์ถัดไป (24-28 พ.ค.) ดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,530 และ 1,500 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,570 และ 1,585 จุด ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด 19 ตลอดจนการควบคุมสถานการณ์การระบาดและการกระจายวัคซีนโควิด 19 ในประเทศและต่างประเทศ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/64 ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก Core PCE เดือนเม.ย. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ กำไรของบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. ของจีน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค. ของยูโรโซน

หุ้นทยอยปรับตัวลงตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,552.44 จุด เพิ่มขึ้น 0.19% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 90,249.94 ล้านบาท ลดลง 21.17% ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.06% มาปิดที่ 475.37 จุด

ต้นสัปดาห์หุ้นแกว่งตัวในกรอบแคบ ก่อนจะดีดตัวขึ้นตามทิศทางของตลาดหุ้นในภูมิภาค ซึ่งช่วยกระตุ้นแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี อย่างไรก็ดีหุ้นทยอยปรับตัวลงตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ โดยมีแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ขณะที่แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อสหรัฐฯ และบันทึกการประชุมเฟดกระตุ้นแรงขายในสินทรัพย์เสี่ยง นอกจากนี้ราคาน้ำมันโลกลดลง เพิ่มแรงกดดันต่อกลุ่มพลังงาน ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิหุ้นไทยตลอดสัปดาห์

สำหรับค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (24-28 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวที่ 31.20-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ข้อมูลการส่งออกเดือนเม.ย.ของไทย

เงินบาทปรับตัวในกรอบแคบๆ ช่วงต้นสัปดาห์อ่อนค่าลงเล็กน้อย ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่งมีผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะที่เหลือของปี ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ขยับแข็งค่าขึ้น หลังบันทึกการประชุมเฟดระบุว่า คณะกรรมการเฟดมีการหารือเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ และกรรมการบางท่านเสนอให้เริ่มหารือเกี่ยวกับการชะลอวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวแข็งค่ากลับมาได้ช่วงปลายสัปดาห์ หลังแรงซื้อสินทรัพย์เสี่ยงกระตุ้นให้มีแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ที่เป็นสกุลเงินปลอดภัยออกมา

ในวันศุกร์ (21 พ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.36 เทียบกับระดับ 31.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (14 พ.ค.)