ttb analytics หนุนเร่งฉีดวัคซีนลดความสูญเสียต่อศก. 5.7 หมื่นลบ.

HoonSmart.com>>ttb analytics หนุนรัฐเร่งฉีดวัคซีนกลุ่ม High mobility ควบคู่กลุ่มเสี่ยงสูงและผู้สูงอายุ คาดช่วยลดอัตราการแพร่เชื้อและส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว ลดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจได้ 5.7 หมื่นล้านบาท

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ระบุว่าโจทย์ที่ท้าทายของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้คือ ทำอย่างไรให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงได้เร็ว ขณะเดียวกันสามารถทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นกลับสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ หนึ่งในแนวทางที่น่าสนใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ให้ดียิ่งขึ้นคือ การกระจายวัคซีนเชิงรุก (Targeted Approach) แก่ประชากรที่เหมาะสม โดยอาศัยปัจจัยการเคลื่อนไหว (Mobility)

โดยสามารถแบ่งกลุ่มผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ตามลักษณะพฤติกรรมการพบปะผู้คนและการเดินทาง ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1) กลุ่ม High Mobility จำนวน 20.2 ล้านคน ประกอบไปด้วยบุคลากรทางการแพทย์ พนักงานขาย พนักงานขนส่ง พนักงานบริการ และพนักงานโรงงาน จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงและโอกาสที่จะติดเชื้อหรือแพร่เชื้อสูง เนื่องจากมีความจำเป็นต้องพบปะผู้คนจำนวนมากและเป็นกลุ่มที่มีส่วนในกิจกรรมเศรษฐกิจ ซึ่งหลักๆ เป็นภาคการค้าและบริการคิดเป็นสัดส่วนกว่า 62% ของจีดีพี

2) กลุ่ม Medium Mobility จำนวน 6.9 ล้านคน เป็นกลุ่มของพนักงานออฟฟิศ ซึ่งปัจจุบันบริษัทให้พนักงานส่วนหนึ่งทำงานที่บ้าน (Work from home) สามารถลดความหนาแน่นในที่ทำงานได้ จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงและโอกาสที่จะติดเชื้อหรือแพร่เชื้อได้น้อยกว่ากลุ่มแรก

3) กลุ่ม Low Mobility จำนวน 39.3 ล้านคน ได้แก่ ผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมถึงแรงงานในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระและเกษตรกร จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงและโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อค่อนข้างต่ำ

โดยแนวทางเลือกฉีดวัคซีนในแต่ละกลุ่มจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ เช่น หากใช้แนวทางการฉีดให้กลุ่ม Low Mobility ก่อน จะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวในเดือนธันวาคม 2564 และจะก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในภาคการค้าและบริการราว 8.96 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงกว่ากลุ่มอื่น

อย่างไรก็ดีหากใช้แนวทางฉีดเชิงรุกตามกลุ่มเป้าหมาย (Targeted Approach) คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาเริ่มฟื้นตัวเร็วขึ้นประมาณเดือนตุลาคม 2564 และความสูญเสียทางเศรษฐกิจในภาคการค้าและบริการจะลดลงอยู่ที่ 6.46 หมื่นล้านบาท

หากเร่งปริมาณการฉีดวัคซีนโดยเพิ่มจาก3แสนโดสต่อวัน เป็น5แสนโดสต่อวัน ซึ่งสอดคล้องกับแผนการฉีดวัคซีนของภาครัฐล่าสุดกำหนดเป้าหมายอยู่ที่ 15 ล้านโดสต่อเดือน จะทำให้แนวโน้มยอดผู้ติดเชื้อลดลงในอัตราเร่ง และเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ โดยยอดผู้ติดเชื้อ ณ เดือนธันวาคม มีจำนวนต่ำกว่า 100 คนต่อวัน ซึ่งส่งผลให้ความสูญเสียทางเศรษฐกิจในภาคการค้าและบริการอยู่ที่ 5.63 หมื่นล้านบาท สำหรับกรณีเลือกฉีดกลุ่ม Low mobility ก่อน ซึ่งจะเริ่มทยอยฟื้นตัวในช่วงเดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป แต่หากเลือกใช้การฉีดเชิงรุกแก่กลุ่ม High Mobility ควบคู่กับฉีดกลุ่มเสี่ยง ความสูญเสียจะน้อยกว่า โดยอยู่ที่ 3.22 หมื่นล้านบาท และกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

หากเทียบกับกรณีการเร่งฉีดวัคซีนเร็วขึ้น 5 แสนโดสต่อวัน ในกลุ่มเชิงรุก กับการฉีดตามแผน 3 แสนโดสต่อวัน ในกลุ่ม Low Mobility พบว่า จะช่วยลดความสูญเสียได้เพิ่มขึ้นถึง 5.7 หมื่นล้านบาท และเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้เร็วขึ้นในเดือนสิงหาคม 2564 ดังนั้นแนวทางการฉีดเชิงรุก (Targeted Approach) พร้อมทั้งเร่งสปีดการฉีด 5 แสนโดสต่อวันจะส่งผลทำให้ความสูญเสียทางเศรษฐกิจลดลงและช่วยเร่งระยะเวลาการฟื้นตัวได้เร็วขึ้น