เงินเฟ้อเม.ย. เพิ่มขึ้น 3.41% ขยายตัวอีกครั้งรอบ 14 เดือน

HoonSmart.com>>อัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 3.41% ขยายตัวได้อีกครั้งในรอบ 14 เดือน และขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 ปี 4 เดือน ผลจากค่าไฟฟ้า-น้ำมัน-ราคาอาหารที่เพิ่ม หลังหมดมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล จับตาการระบาดของโควิคระลอกใหม่ฉุดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนเม.ย.64 อยู่ที่ 100.48 เพิ่มขึ้น 3.41% เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.63 กลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในรอบ 14 เดือน และขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 ปี 4 เดือน จากค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น หลังสิ้นสุดมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล รวมทั้งราคาน้ำมันตลาดโลกและราคาอาหารสดที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ CPI เฉลี่ย 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) เพิ่มขึ้น 0.43%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนเม.ย.64 อยู่ที่ 100.56 เพิ่มขึ้น 0.30% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 4 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.16%

“ต้องจับตาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในขณะนี้ ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งภาคการผลิต และภาคการบริโภค และเป็นประเด็นข้อกังวลที่อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ต่อเนื่อง ซึ่งต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ว่าจะสามารถควบคุมให้กลับมาสู่ภาวะใกล้เคียงปกติได้เมื่อใด” นายวิชานัน ระบุ

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อ เดือนพ.ค.64 นั้น หากรัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยลดค่าครองชีพเพิ่มเติม ก็คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวสูงต่อเนื่องจากเดือนเม.ย. แต่หากมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม ก็จะปรับตัวลดลงไปถึง 2%

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อในปี 2564 จะเคลื่อนไหวระหว่าง 0.7%-1.7% (ค่าเฉลี่ยที่ 1.2%) ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง โดยมีสมมติฐานจากเศรษฐกิจเติบโต 2.5-3.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 55-65 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปี 29-31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ