กองทุนนอกยังฮอต Q1/64 เงินไหลเข้าสุทธิ 1.5 แสนลบ. “หุ้นจีน” ยอดนิยม

HoonSmart.com>> มอร์นิ่งสตาร์ฯ เผยไตรมาส 1/64 เงินไหลเข้าสุทธิกองทุนต่างประเทศกว่า 1.5 แสนล้านบาท หนุนมูลค่าทรัพย์สินแตะ 9.8 แสนล้านบาท เติบโต 17% จากสิ้นปี 63 “กองทุนหุ้นจีน” สุดฮอต เงินไหลเข้าสูงสุด 5.5 หมื่นล้านบาท กองทุนหุ้นทั่วโลก 4.4 หมื่นล้านบาท สวนผลตอบแทนชะลอตัว

น.ส.ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมกองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) ยังมีการเติบโตที่ดี โดยไตรมาส 1/2564 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 9.8 แสนล้านบาท สูงกว่าสิ้นปี 2563 ราว 17% และมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิรวม 1.5 แสนล้านบาท โดยสัดส่วนของกองทุนตราสารทุน มีการเติบโตขึ้นค่อนข้างเร็วภายในระยะเวลา 3 เดือน ที่ 25% ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมอยู่ที่ 7.2 แสนล้านบาท ในขณะที่สินทรัพย์ประเภทอื่นมีมูลค่าลดลง เช่น กองทุนผสม -7.8% กองทุนตราสารหนี้ -10.9% และกองทุนทองคำหรือน้ำมัน -9.6%

กลุ่มกองทุนหุ้นจีน (China Equity) เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงสุดในกลุ่มกองทุนต่างประเทศ มูลค่า 1.6 แสนล้านบาท และเป็นกลุ่มที่มีเม็ดเงินไหลเข้าสูงสุดในไตรมาสแรกนี้รวม 5.5 หมื่นล้านบาท โดยกว่า 50% เป็นเงินไหลเข้าจากบลจ.กรุงไทย 1.47 หมื่นล้านบาทและบลจ.กสิกรไทย 1.45 หมื่นล้านบาท ทำให้มูลค่าทรัพย์สินของกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 40.1% จากไตรมาสก่อนหน้า

กลุ่ม Global Equity โดดเด่นเช่นเดียวกันเติบโต 36.3% แตะ 1.6 แสนล้านบาท นับตั้งแต่ต้นปีมีกองทุน Global Equity เปิดใหม่ 15 กองทุน เป็นการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมการเติบโตในยุคใหม่ ทำให้สามารถดึงดูดเงินลงทุนได้ค่อนข้างดี รวมมูลค่าเงินลงทุนกองทุนเปิดใหม่ไตรมาสแรกอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามทั้งสองกลุ่มนี้มีผลตอบแทนที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจนที่เฉลี่ย -0.7% สำหรับกองทุนหุ้นจีนและที่ 2.1% สำหรับกลุ่ม Global Equity

สำหรับ 10 อันดับแรกเงินไหลเข้าสุทธิ ล้วนแต่เป็นการลงทุนต่างประเทศทั้งหมด นำโดยกองทุนตราสารทุน เช่น กองทุนหุ้นจีน กองทุนหุ้นทั่วโลก กองทุนหุ้น Health Care เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม Foreign Investment Miscellaneous ที่จะเป็นกลุ่มสำหรับกองทุนที่ไม่เข้านิยามกลุ่มกองทุนอื่น โดยในช่วงที่ผ่านมาจะเป็นเม็ดเงินกองทุนทริกเกอร์ฟันด์เป็นหลัก โดยมีกองทุนทริกเกอร์ฟันด์เปิดในช่วงต้นปีจำนวน 19 กองทุน ในจำนวนนี้เข้าเงื่อนไขปิดกองทุนไปแล้ว 2 กองทุน รวมมูลค่ากองทุนทริกเกอร์ที่มีการเปิดใหม่และยังไม่เข้าเงื่อนไขปิดกองนับตั้งแต่ช่วงปี 2563 ทั้งสิ้น 2.6 หมื่นล้านบาท

ด้านเม็ดเงินไหลออก กลุ่ม Property Indirect – Flexible มีเงินไหลออกสูงสุด 1.5 หมื่นล้านบาท ประกอบกับผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำที่ 0.5% ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าทรัพย์สินลดลง 14.5% กลับไปต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

กลุ่ม Global Bond มีมูลค่าทรัพย์สิน 9.2 หมื่นล้านบาท ลดลง 10.9% มีเงินไหลออกสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาท จากความกังวล bond yield ที่ปรับตัวขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นปี ทำให้ไตรมาสล่าสุดมีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ 0.6%

ทั้งนี้ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ากองทุนรวมต่างประเทศมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด และส่วนแบ่งตลาดมีการกระจายตัวมากขึ้น โดยบลจ. 5 อันดับแรกมีส่วนแบ่งตลาดรวมราว 60% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่เกือบ 70% บลจ.วรรณ มีอัตราการเติบโตสูงสุดราว 8 เท่าจากปีที่แล้ว ไปที่เกือบ 4.5 หมื่นล้านบาท จากที่หลายกองทุนให้ผลตอบแทนสูงและสามารถดึงดูดความสนใจจากนักลงทุน รวมทั้งการทยอยเปิดกองทุนทริกเกอร์มากกว่า 10 กองทุน ซึ่งมีเม็ดเงินหมุนเวียนสูงกว่า 2 หมื่นล้านบาท

ด้านบลจ.ฟิลลิป ที่แม้จะเป็นบลจ.ขนาดเล็กแต่มีกองทุนที่สร้างผลตอบแทนติดอันดับสูงสุดในปีที่แล้ว โดยในไตรมาสล่าสุดมีเม็ดเงินไหลเข้ากองทุนต่างประเทศกว่า 400 ล้านบาท ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนต่างประเทศแตะระดับพันล้านบาท เติบโตมากกว่า 500%

บลจ.กรุงไทย มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาที่ 7.5 หมื่นล้านบาท หรือที่อันดับ 4 สำหรับตลาดกองทุนรวมต่างประเทศ จากอัตราการเติบโต 206% จากไตรมาสแรกของปีที่แล้ว โดยมีกองทุนหุ้นจีนคือ KTAM China A Shares Equity เป็นส่วนสำคัญของการเติบโต จากเงินไหลเข้าสุทธิเพียงไตรมาสเดียวถึง 1.2 หมื่นล้านบาท ทำให้เคยเป็นกองทุนหุ้นจีนขนาดใหญ่ที่สุดในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา

น.ส.ชญานี กลาวว่า ตลาดกองทุน FIF ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบกองทุนฟีดเดอร์ (Feeder fund) โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมอยู่ที่ เกือบ 7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% จากไตรมาสก่อนหน้า หรือโตกว่าเท่าตัวจากไตรมาสแรกของปี 2563 คิดเป็น 71% ของการลงทุนต่างประเทศแบบไม่รวม term fund

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมในไตรมาส 1/2564 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวมทั้งระบบ ณ 31 มี.ค.2564 อยู่ที่ 5.2 ล้านล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้น 13.5% จากมี.ค.2563 (เพิ่มขึ้น 2.8% จากธ.ค.2563) โดยในช่วงเวลาดังกล่าวมีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการไหลเข้ากองทุนตราสารทุนรวม 1.3 แสนล้านบาท

กองทุนรวมตราสารหนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.5 ล้านล้านบาท ลดลง 1.6% จากไตรมาสก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วน 37% ของตลาด และมีเงินไหลออกสุทธิไตรมาสล่าสุด 2.3 หมื่นล้านบาท ด้านกองทุนรวมตราสารทุนมีสัดส่วนที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อไตรมาสล่าสุดมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปีที่แล้วถึง 57%

ขณะที่กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF RMF SSF) มูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.0% จากสิ้นปี 2563 (เพิ่มขึ้น 15.7% จากมี.ค.2563) แม้หุ้นไทยจะฟื้นตัวจากช่วงต่ำสุด (SET TR ช่วง 1 ปี = 45%) และสะท้อนไปยังมูลค่าทรัพย์สินกองทุน แต่โดยรวมมูลค่าทรัพย์สินกองทุนกลุ่มนี้ยังต่ำกว่าระดับก่อน COVID-19

ด้านกองทุนเพื่อการออม (SSF) ถือว่ายังค่อนข้างเงียบเหงาในไตรมาสแรก เนื่องจากยังเป็นช่วงต้นปีที่มักจะไม่ค่อยมีเงินไหลเข้ากองทุนลดหย่อนภาษี รวมเงินไหลเข้าสุทธิของไตรมาสแรกที่ 890 ล้านบาท ทำให้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 2.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.1% จากสิ้นปี 2563

กองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากสิ้นปี 2563 สะท้อนมูลค่าการลงทุนที่ปรับตัวขึ้นตาม SET Index ที่ฟื้นตัว มูลค่าเงินไหลออกสุทธิล่าสุด 6.5 พันล้านบาท น้อยกว่าไตรมาสแรกของปีที่แล้วเล็กน้อยที่เกือบ 7 พันล้านบาท กองทุน RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 3.5 แสนล้านบาท สูงกว่าสิ้นปีที่แล้ว 4.2% การเติบโตมีส่วนสำคัญจากการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทย ในขณะที่มีเม็ดเงินไหลออกสุทธิเพียงเล็กน้อยที่ 88 ล้านบาท

ส่วนกลุ่มกองทุน Money Market ยังเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงสุดเกือบ 7 แสนล้านบาท (แบ่งตามกลุ่มมอร์นิ่งสตาร์) แต่มีทิศทางที่หดตัวลงต่อเนื่องหรือลดลง 7.3% จากไตรมาสก่อนหน้า ทำให้มีมูลค่าทรัพย์สินที่มากกว่าสูงกว่ากลุ่ม Equity Large-Cap ที่ตามมาเป็นอันดับสองเพียง 3 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สิน 6.7 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 23.8% จากไตรมาสแรกของปีก่อน

กองทุนตราสารหนี้ที่เคยได้รับผลกระทบจากช่วงต้นของโควิด-19 เช่นกลุ่ม Flexible Bond มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงขึ้น 25.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมาอยู่ที่ 3.6 แสนล้านบาท โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้าสุทธิเพียงเล็กน้อย 2.2 พันล้านบาท หรือไหลเข้าต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4

ด้านผลตอบแทนกองทุนรวมในไตรมาส 1/2564 พบว่ากองทุนน้ำมันผลตอบแทนสูงสุด 24.56% รองลงมากลุ่มกองทุน Equity Fix Term หรือกำหนดระยะเวลาลงทุน 18.90% อันดับสาม กองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก 18.25% อันดับสี่ กองทุนหุ้นขนาดใหญ่ 12.46% อันดับห้า กองทุน Aggressive Allocation หรือกองทุนรวมผสมบริหารเชิงรุกลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

5 กองทุนที่ผลตอบแทนติดลบมากสุด ได้แก่ กองทุนทองคำ -9.23% รองลงมากองทุนตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ -3.46% อันดับสาม กองทุนเฮลธ์แคร์โลก -1.63% อันดับสี่ กองทุนหุ้นจีน -0.74% และอันดับห้า กองทุนรวมที่ลงทุนในหน่วยลงทุนกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์, ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ฯ (รีท) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ -0.70%

 
 
บทความอื่นๆ

กองทุนหุ้นไทย Q1/64 เงินไหลออก 1.2 หมื่นลบ. ผลตอบแทนหุ้นกลาง-เล็กชนะบิ๊กแคป