บล.กสิกรฯมองกำไรแบงก์ชี้นำตลาด แนวรับต่ำสุด 1,510 จุด สัปดาห์หน้า

HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยมองดัชนีแกว่งในช่วง 1,510 จุด และ 1,575 จุด  จับตากำไรแบงก์ไตรมาส 1/64  โควิดระบาดระลอกใหม่ทำนักลงทุนหวั่นไหว ส่วนค่าเงินบาทธนาคารกสิกรไทยคาดเคลื่อนไหวในช่วง 31.10-31.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังผันผวนสูง จากอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือนที่ 31.57 บาทต่อดอลลาร์ฯ พลิกกลับมาแข็ง

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย มองหุ้นสัปดาห์ถัดไป (19-23 เม.ย.2564) ดัชนีมีแนวรับที่ 1,530 และ 1,510 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,560 และ 1,575 จุด ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลประกอบการงวดไตรมาส 1/64 ของบจ.ไทย โดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร สถานการณ์โควิดในประเทศ รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิด 19

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่และบ้านมือสองเดือนมี.ค. รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการ (เบื้องต้น) เดือนเม.ย. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การประชุม ECB ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการ (เบื้องต้น) เดือนเม.ย. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน และการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนเม.ย. ของจีน

สัปดาห์ที่ผ่านมาหุ้นถูกกดดันจากสถานการณ์โควิดในประเทศ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,548.96 จุด ลดลง 1.11%  ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 83,842.50 ล้านบาท ลดลง 5.76% ส่วนดัชนี mai ลดลง 2.45% มาปิดที่ 447.08 จุด

หุ้นร่วงลงแรงช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายหุ้นทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธนาคาร การเงิน และพลังงาน จากกลุ่มนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างชาติเป็นหลัก โดยมีปัจจัยลบจากสถานการณ์โควิดในประเทศที่ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการลดสถานะความเสี่ยงก่อนปิดหยุดยาวในระหว่างสัปดาห์ อย่างไรก็ดีหุ้นฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ตามแรงซื้อสุทธิของต่างชาติ ขณะที่นักลงทุนคลายกังวลบางส่วนหลังทางการยังไม่ได้คุมเข้มด้วยการประกาศล็อกดาวน์ทั้งประเทศ

สำหรับค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (19-23 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวที่ 31.10-31.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นช่วงปลายสัปดาห์ หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือนที่ 31.57 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงแรก ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของโควิด 19 ระลอกสาม ซึ่งยากต่อการควบคุมและอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะที่เหลือของปี อย่างไรก็ดี เงินบาทดีดตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ตามจังหวะการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ

ในวันศุกร์ (16 เม.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.23 เทียบกับระดับ 31.42 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (9 เม.ย.)