HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยแนะให้ติดตามสถานการณ์โควิด มาตรการควบคุมการระบาด ความคืบหน้าวัคซีน ผลกำไรบจ.งวดไตรมาส 1/64 ชี้นำตลาดสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ส่วนธนาคารกสิกรไทยมองกรอบค่าเงินบาทที่ 31.20-31.65 บาท หลังจากอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือนที่ 31.51 บาท
บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองหุ้นสัปดาห์ถัดไป (12-16 เม.ย.) ดัชนีมีแนวรับที่ 1,555 และ 1,540 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,580 และ 1,600 จุด ตามลำดับ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด 19 ในประเทศและมาตรการควบคุมการระบาด รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิด 19 ตลอดจนผลประกอบการงวดไตรมาส 1/64 ของบจ.ไทย
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนมี.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/64 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมี.ค. ของจีน รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมี.ค. และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ. ของยูโรโซน
หุ้นร่วงลงจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,566.34 จุด ลดลง 1.87% น ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 88,971.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.00% ส่วนดัชนี mai ลดลง 2.90% มาปิดที่ 458.32 จุด
หุ้นร่วงลงแรงช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายจากกลุ่มนักลงทุนสถาบัน สวนทางกับหุ้นต่างประเทศที่ส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นรับความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หุ้นในกลุ่มพลังงาน ธนาคาร การเงินและอสังหาริมทรัพย์เผชิญแรงกดดันจากสถานการณ์การระบาดของโควิดระลอกใหม่ ที่กระจายเป็นวงกว้าง อย่างไรก็ดี หุ้นสามารถฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วน หลังทางการยังไม่ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ
สำหรับค่าเงินบาท สัปดาห์ถัดไป (12-16 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหว ที่ 31.20-31.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ
สัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือนที่ 31.51 บาทต่อดอลลาร์ฯอ่อนค่าลง สอดคล้องกับสกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่ในช่วงต้นสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับอานิสงส์จากข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเดือนมี.ค.ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด ซึ่งหนุนความหวังต่อแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นอกจากนี้เงินบาทยังเผชิญแรงขายต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบสามของโควิด 19 ในประเทศ ซึ่งมีการแพร่กระจายออกไปในหลายจังหวัดอย่างรวดเร็ว
ในวันศุกร์ (9 เม.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.42 เทียบกับระดับ 31.31 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (2 เม.ย.)