เมย์แบงก์กิมเอ็ง เชียร์ SONIC คาดไตรมาส 1 กำไรนิวไฮ 36 ล้าน

HoonSmart.com>>SONIC  ราคานิวไฮแตะ 3.48 บาท ก่อนปิดตลาดครึ่งวันเช้า  3.30 บาท บวก 8 สตางค์  ฟากเมย์แบงก์กิมเอ็ง คาดการณ์ไตรมาส 1 /64 กำไร 36 ล้านบาท โตแรง 174% ทำสถิติใหม่เป็นไตรมาสที่ 2  

ราคาหุ้นบริษัท โซนิค อินเตอร์เฟรท (SONIC) ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำ All Time High ที่ 3.48 บาท สวนตลาดที่ปรับตัวลง เกือบ 15 จุด  และปิดตลาดครึ่งวันที่ 3.30 บาท เพิ่มขึ้น 0.08 บาท หรือ 2.48% มูลค่าซื้อขาย 157.88 ล้านบาท

บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์กิมเอ็ง ปรับประมาณการกำไร คาดไตรมาส 1/64 กำไร 36 ล้านบาท เติบโต 172.4% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และโต 28% เทียบไตรมาส 4/63  ให้ราคาเป้าหมาย 3.15 บาท ก่อนปรับประมาณการ

ประมาณการกำไรก่อนหน้า อาจต่ำไปราว 20-30%  มีโอกาสปรับประมาณการขึ้น การส่งออกไตรมาส 1 สดใส ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับเป้าส่งออกขึ้น

บทวิเคราะห์ ระบุว่า ไตรมาส 1/2564 ของ SONIC ยังคงสดใส ทำสถิติใหม่ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 ซึ่งได้ประโยชน์จากขนาดและปริมาณการส่งออกที่หนาแน่น ซึ่งทิศทางนี้สอดคล้องกับมุมมองเชิงบวกของแบงก์ชาติต่อภาคการส่งออกไทย

หากกำไรไตรมาส 1 /64 ออกมาตามคาดนี้ จะทำให้ประมาณการกำไรปี 2564 ต่างไป 20-30% มีโอกาสปรับประมาณการกำไรและราคาเหมาะสมขึ้นอีกครั้ง จากคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2563 ที่ 93 ล้านบาท และราคาเหมาะสมก่อนปรับประมาณการที่ 3.15 บาท/หุ้น

สำหรับสัญญาณที่ได้รับคือ ยอดรายได้ยังขยายตัวต่อระดับ 10%  จากไตรมาส 4/63 ซึ่งเป็น High Season ของบริษัท ส่วนไตรมาส 1/64  แม้จะเป็น Low season ของทุกปี แต่ทว่าปีนี้ ประเทศไทย กลับได้อานิสงส์ จากการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า ที่เริ่มคุมการแพร่ระบาด COVID-19 ได้ดีขึ้น

ผนวกกับค่าระวางเรือคอนเทนเนอร์ ที่ยังอยู่ในระดับสูง จากการขาดแคลนตู้ รวม ๆ แล้ว จึงทำให้ทิศทางรายได้ยังสดใส สอดรับกับ ธปท. รายงานตัวเลขส่งออกเดือน ก.พ. (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว +7% YoY และยังปรับเป้าส่งออกปี 2564 เพิ่มจาก +5.7% เป็น +10.0% YoY อีกด้วย

ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้น (GPM)  คาดทรงตัวที่ 18.7% จากไตรมาสก่อน เพราะต้องช่วยเหลือดูแลลูกค้าผู้ส่งออกในภาวะค่าระวางแพง แต่อย่างไรก็ดี SONIC ได้ประโยชน์จาก Volume ที่เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ และ การได้ประโยชน์จากขนาดเข้ามาชดเชย (Economies of scale) เราคาดอัตรากำไรสุทธิ (NPM) จะทำได้สูง 7.2% เป็นสถิติใหม่ของบริษัทเช่นกัน

ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด รวมถึงสถานการณ์ของค่าเงินบาท จะส่งผลต่อปริมาณกิจกรรมการส่งออกของผู้ประกอบการไทย