บล.กสิกรไทยมองหุ้นสัปดาห์หน้าจะไป 1,620 หรือลง 1,570 จุด

HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยมองหุ้นจะถูกชี้นำจากสถานการณ์โควิด วัคซีน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย กำไรบริษัทจดทะเบียนงวดไตรมาส 1  ส่วนธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบค่าเงินบาทที่ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 5 เดือนครึ่งที่ 31.40 บาท

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย คาดหุ้นสัปดาห์ถัดไป (5-9 เม.ย.) ดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,585 และ 1,570 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,605 และ 1,620 จุด ตามลำดับ

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด 19 ทั่วโลก รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิด 19 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ตลอดจนการทยอยประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 1/64 ของบจ.ไทย

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ บันทึกการประชุมเฟด ดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนี PMI ภาคบริการเดือนมี.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมี.ค. ของจีน รวมถึงดัชนี PMI ภาคบริการเดือนมี.ค. ของยูโรโซน จีนและญี่ปุ่น

หุ้นปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,596.27 จุด เพิ่มขึ้น 1.36% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 80,882.75 ล้านบาท ลดลง 4.57% ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 4.90% มาปิดที่ 472.02 จุด

หุ้นปรับตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนสถาบันและต่างชาติท่ามกลางแรงหนุนจากการทำ Window Dressing ก่อนปิดงบไตรมาส 1/64 ก่อนจะพักฐานช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ โดยดีดตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นต่างประเทศขานรับแผนการลงทุนขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ

ในระหว่างสัปดาห์ มีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มการเงิน วัสดุก่อสร้างและเทคโนโลยี ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานซึ่งมีแรงหนุนจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวขึ้นและผลการประชุมโอเปกพลัสที่จะเพิ่มกำลังการผลิตแบบค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับค่าเงินบาท สัปดาห์ถัดไป (5-9 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวที่ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 5 เดือนครึ่งที่ 31.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ได้รับแรงหนุนในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับข่าวการผิดนัดชำระการเพิ่มเงินประกันของเฮดจ์ฟันด์รายหนึ่งในสหรัฐฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยบวกจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประธานาธิบดี โจ ไบเดน

ขณะที่เงินบาทเผชิญแรงกดดันจากผลของการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทต่างชาติในช่วงก่อนสิ้นไตรมาส 1/64 ด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ (2 เม.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.30 เทียบกับระดับ 31.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (26 มี.ค.)