คลุกวงในหุ้น : แผนออก GREEN-W5 ล่ม

โดย…..สุนันท์ ศรีจันทรา

การออกใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญ หรือ วอร์แรนต์ ของบริษัทจดทะเบียน มักจะราบรื่น โดยผู้ถือหุ้นอนุมัติตามที่คณะกรรมการบริษัทฯ เสนอ แต่สำหรับวอร์แรนต์รุ่นที่5ของบริษัท กรีน รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) หรือ GREEN กลับมีปัญหา เพราะผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ไม่อนุมัติ จนเกิดข้อสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นกับบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้

คณะกรรมการ GREEN มีมติเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเพิ่มทุนจำนวน 272.67 ล้านหุ้น เพื่อรองรับ GREEN-W5 ซึ่งจัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 3 หุ้นเดิมต่อ 1 วอร์แรนต์ฟรี อายุ 4 ปี สัดส่วนการแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ1ต่อ1 ราคาแปลงสภาพ1.25 บาท

วันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อขอมติการเพิ่มทุนและออกวอร์แรนต์รุ่นที่5 ซึ่งปรากฏว่า ทั้งวาระการเพิ่มทุน การออกวอร์แรนต์ และการจัดหุ้นเพิ่มทุน ไม่ผ่านการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น โดยมีมติไม่เห็นด้วยทั้ง 3 วาระ ด้วย 379.98 ล้านเสียงหรือคิดเป็นร้อยละ 70.51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดต่อ 157.64 ล้านเสียง หรือ ร้อยละ29.48 ทั้งสามวาระ

แผนการออกวอร์แรนต์รุ่นที่ 5 ของ GREEN ต้องล้มพับไป และแม้จะไม่มีผลกระทบรุนแรงต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ แต่ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความขัดแย้ง ระหว่างฝ่ายบริหารและผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่

วอร์แรนต์ในตลาดหุ้นไทย ส่วนใหญ่มักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นราคาหุ้น มากกว่าการนำไปใช้เพื่อการวางแผนทางการเงิน และ GREEEN ออกวอร์แรนท์มาแล้วถึง 4 รุ่น ซึ่งลื่นไหลมาตลอด จนรุ่นที่ 5 ที่ถูกผู้ถือหุ้นล้มแผน

นายไต้ ซอง อี ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสอง ในสัดส่วน 8.98% ของทุนจดทะเบียน ถูกระบุว่า เป็นแกนนำในการล้มมติการเพิ่มทุนและออกวอร์แรนต์ แต่นายไท้จะล้มแผนของฝ่ายบริหารบริษัทไม่ได้ หากผู้ถือหุ้นรายย่อยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย

การออกวอร์แรนต์ แจกฟรีผู้ถือหุ้นเดิมนั้น ไม่มีผลกระทบใดต่อผู้ถือหุ้นเดิม ไม่ว่าจะเป็นรายย่อยหรือรายใหญ่ เพราะทุกคนได้รับสิทธิโดยเท่าเทียม แต่ผลกระทบจะเกิดจากนักเก็งกำไรที่แห่เข้าไปไล่ซื้อหุ้น โดยหวังได้วอร์แรนต์ หรือนักลงทุนที่แห่เข้าไปเก็งกำไรวอร์แรนต์

แผนการออกวอร์แรนต์จึงไม่น่าจะถูกต่อต้านจากผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ แต่การที่ผู้ถือหุ้น GREEN ลุกฮือต่อต้าน น่าจะมีความขัดแย้งหรือมีไม่พอใจฝ่ายบริหารบริษัทฯ ในประเด็นที่ยังไม่ถูกตีแผ่

หุ้น GREEN ทรุดตัวลงทันทีที่มติการเพิ่มทุนและออกวอร์แรนต์ถูกคว่ำ โดยเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมปิดที่ 1.28 บาท ลดลง 9 สตางค์หรือลดลง 6.57%

หุ้น GREEN เงียบเหงาซบเซามาพักใหญ่แล้ว เพราะผลประกอบการย่ำแย่ ขาดทุนหลายปีติดต่อ ไม่มีค่าพี/อี เรโชที่จะคำนวณ ไม่มีการจ่ายเงินปันผล รายได้แต่ละปีไม่กี่สิบล้านบาท โดยผลประกอบการเริ่มกระเตื้องขึ้นในไตรมาสแรกปีนี้ซึ่งมีกำไรสุทธิ 9.43 ล้านบาท ขณะที่ระยะเดียวกันปีก่อนขาดทุนสุทธิ 12.51 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการจับตาว่า ผลประกอบการจะฟื้นต่อเนื่องหรือไม่

แต่สิ่งที่กำลังเรียกความสนใจจากนักลงทุนคือ เพราะเหตุใดผู้ถือหุ้นจะลุกฮือขึ้นมาต่อต้านฝ่ายบริหารบริษัทฯ โดยล้มแผนเพิ่มทุนและออกวอร์แรนต์ ความขัดแย้งลึกๆ เป็นประเด็นใด และจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งระหว่างฝ่านบริหารกับผู้ถือหุ้นใหญ่ใหญ่ของ GREEN ถือเป็นปัญหาภายในของบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ นักลงทุนทั่วไปไม่เกี่ยว

และดูผลประกอบการหุ้น GREEN แล้ว นักลงทุนส่วนใหญ่ก็ไม่น่าเข้าไปเกี่ยว เฝ้าดูความเป็นไปอยู่ห่างปลอดภัยกว่า