HoonSmart.com>> ก.ล.ต.ปรับปรุงเกณฑ์ด้านบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนโดยกำหนดให้การอบรมเกี่ยวกับ ESG เป็นหลักสูตรภาคบังคับสำหรับการต่ออายุความเห็นชอบของผู้แนะนำการลงทุน ผู้วางแผนการลงทุน นักวิเคราะห์การลงทุน เจ้าหน้าที่จัดการการซื้อขายด้านสินค้าเกษตร ผู้จัดการกองทุน และผู้จัดการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตั้งแต่ปี 65 เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการให้บริการแก่ผู้ลงทุน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ตามที่ก.ล.ต.ได้สนับสนุนและส่งเสริมเรื่องการลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investment) อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการให้ความสำคัญกับการประกอบธุรกิจและการลงทุนในตลาดทุนไทยที่คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance) หรือ ESGในทุกมิติ ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง และผู้ลงทุน ตลอดจนการผลักดันให้ภาคธุรกิจในตลาดทุนเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG เพื่อให้ผู้ลงทุนมีไว้สำหรับประกอบการตัดสินใจลงทุน ผ่านแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1 One Report) ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2565 นั้น
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนที่คำนึงถึง ESG แก่ผู้ลงทุน ซึ่งไม่ใช่เพียงผู้ลงทุนสถาบันเท่านั้น แต่ยังต้องขยายไปถึงผู้ลงทุนรายย่อยด้วย ก.ล.ต. จึงส่งเสริมให้บุคลากรในตลาดทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ให้บริการคำแนะนำการลงทุน วิเคราะห์การลงทุน รวมถึงตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนสำหรับผู้ลงทุน ได้มีการเข้าอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับ ESG เพิ่มเติมจากเกณฑ์เดิมที่กำหนดให้ต้องผ่านการอบรมความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบ จรรยาบรรณ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความรู้ในเรื่องดังกล่าวอย่างเพียงพอและได้ทบทวนความรู้อย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับบริบทที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
ทั้งนี้ การผ่านการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับ ESG ทุก ๆ 2 ปี จะเป็นคุณสมบัติหนึ่งในการยื่นคำขอกับ ก.ล.ต. เพื่อต่ออายุความเห็นชอบบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ประเภทผู้แนะนำการลงทุน ผู้วางแผนการลงทุน นักวิเคราะห์การลงทุน เจ้าหน้าที่จัดการการซื้อขายด้านสินค้าเกษตร ผู้จัดการกองทุน และผู้จัดการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม รวมถึงบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนดังกล่าวที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก มีเวลาเพียงพอในการเตรียมความพร้อมในช่วงปีนี้
“ก.ล.ต. เชื่อมั่นว่า บุคลากรในธุรกิจตลาดทุน รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง เป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการตอบโจทย์การพัฒนาตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Capital Market) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุน ผู้ระดมทุน และตลาดทุนโดยรวม” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งให้บริการ อาทิ นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ค้าหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาการลงทุน จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ จัดการกองทุนรวม จัดการกองทุนส่วนบุคคล ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นต้น