“กองทุนรวม” ปี 67 AUM โต 14.84% มูลค่าทรัพย์สินแตะ 5.91 ล้านลบ.

HoonSmart.com>>”กองทุนรวม” ปี 67 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (AUM) โตแตะ 5.91 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นกว่า 7.63 แสนล้านบาท หรือ 14.84% จากสิ้นปี 66 อานิงส์ตลาดหุ้นต่างประเทศ ปรับตัวขึ้นโดดเด่น “ตลาดหุ้นสหรัฐฯ” ทำนิวไฮ หุ้นเทคพุ่งแรง หนุนมูลค่าเงินลงทุนผ่านกองทุน FIF โตต่อเนื่อง “ด้านกองทุนตราสารหนี้” ยังเด่น ฟาก “กองทุนลดหย่อนภาษี” ThaiESG มูลค่าพุ่ง 462% ดัน AUM แตะ 2.96 หมื่นล้านบาท

 


“HoonSmart” ส่องการเติบโตของอุตสาหกรรม “กองทุนรวมไทย” ปี 2567 (สิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค.2567) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (AUM) เติบโตต่อเนื่องแตะ 5,908,726 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้น 763,646 ล้านบาท หรือ 14.84% จากสิ้นปี 2566 อยู่ที่ 5,145,077 ล้านบาท จากจำนวนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ทั้งหมด 23 แห่ง และมีกองทุนรวมทั้งสิ้น 3,312 กองทุน เพิ่มขึ้น 258 กองทุน จากสิ้นปี 2566 มีจำนวน 3,054 กองทุน ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC)

กองทุนรวมตราสารหนี้ มีมูลค่า AUM สูงสุดที่ 2,875,797 ล้านบาท สัดส่วน 48.67% ของทั้งหมด เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีก 513,542 ล้านบาท หรือ 21.74% จากสิ้นปี 2566

รองลงมา กองทุนตราสารทุน มี AUM 1,784,514 ล้านบาท สัดส่วน 30.20% ของทั้งหมด มูลค่าทรัพย์สินเติบโต 190,254, ล้านบาท หรือ 11.93% จากสิ้นปี 2566

กองทุนรวมผสม AUM อยู่ที่ 354,834 ล้านบาท สัดส่วน 6.01% ของทั้งหมด เพิ่มขึ้น 20,974 ล้านบาท หรือ 6.28% จากสิ้นปี 2566

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน มี AUM อยู่ที่ 351,081 ล้านบาท สัดส่วน 5.94% ของทั้งหมด มูลค่าลดลง 17,326 ล้านบาท หรือ -4.70% จากสิ้นปี 2566

ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) มี AUM อยู่ที่ 259,840 ล้านบาท สัดส่วน 4.40% ของทั้งหมด มูลค่าเพิ่มขึ้น 27,541 ล้านบาท หรือ 11.86% จากสิ้นปี 2566 มีจำนวนกอง REIT เพิ่มขึ้น 1 กอง รวมเป็น 29 กอง

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่กองทุนทุกประเภทจะมีการออกกองใหม่เพิ่มขึ้น ยกเว้นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่มีจำนวนกองเท่าเดิมอยู่ที่ 9 กอง
กองทุนนอก (FIF) โต 29.26% แตะ 1.35 ล้านล้านบาท

การเติบโตของกองทุนรวมในปี 2568 ส่วนหนึ่งมาจากมูลค่าเงินลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำนิวไฮ หุ้นเทคโนโลยีเติบโตโดดเด่นและหุ้นทั่วโลก รวมทั้งตลาดตราสารหนี้ที่ยังเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน ขณะเดียวกันปัจจัยในประเทศ ได้รับอานิสงส์จากกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง (VAYU1) หน่วยลงทุนประเภท ก. ที่เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป จำนวน 15,000 ล้านหน่วย ราคา 10 บาท/หน่วย มูลค่ารวม 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งเริ่มจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 7 ต.ค.2567 จึงหนุนให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบกองทุนรวมเพิ่มขึ้น

หากแยกรายประเภทกองทุน พบกองทุนรวมเพื่อไปลงทุนต่างประเทศ (FIF) มูลค่า AUM เติบโตแตะ 1,352,302 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 306,151 ล้านบาท หรือ 29.26% จากสิ้นปี 2566 โดยมีจำนวนกองทุนออกใหม่ 168 กอง ส่งผลให้มีจำนวนกองทุนเพิ่มเป็น 1,318 กองทุน

ขณะที่กองทุนรวมตลาดเงินหรือมันนี่ มาร์เก็ต ที่เป็นแหล่งพักเงินเพื่อรอการลงทุน มีมูลค่า AUM เติบโตเช่นกันอยู่ที่ 312,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54,588 ล้านบาท หรือ 21.14%
“กองทุนประหยัดภาษี” ThaiESG มูลค่าใกล้แตะ 3 หมื่นลบ.

ด้านกลุ่ม “กองทุนประหยัดภาษี” เติบโตมากเช่นกัน โดยเฉพาะกองทุนรวมไทยยั่งยืน (ThaiESG) ซึ่งปี 2567 ภาครัฐปรับเงื่อนไขการลงทุนให้สั้นลงเหลือ 5 ปีจากเดิม 8 ปี พร้อมเพิ่มวงเงินลงทุนให้สูงสุดไม่เกิน 3 แสนบาท เติบโตมากในปี 2567 และมีการออกกองทุนใหม่มากถึง 23 กองทุน ทำให้จำนวนกองทุนเพิ่มเป็น 53 กองทุน และมีมูลค่า AUM เพิ่มขึ้นแตะ 29,596 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24,329 ล้านบาท หรือ 461.93% จากสิ้นปี 2566

ขณะที่กองทุนรวมเพื่อการออมระยะยาว (SSF) ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของกองทุนก็มีออกกองทุนมากถึง 38 กองทุน ส่งผลให้มีจำนวนกองทุนเพิ่มเป็น 372 กองทุน มูลค่ารวม 69,436 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,709 ล้านบาท หรือ 26.88% จากสิ้นปี 2566 จากสิ้นปี 2566

ส่วนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ยังเติบโตต่อเนื่องและมีกองทุนออกใหม่ 33 กองทุน ส่งผลให้จำนวนกองทุนเพิ่มเป็น 373 กอง มูลค่ารวม 458,372 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37,325 ล้านบาท หรือ 8.86% จากสิ้นปี 2566

ขณะที่กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่สิ้นสุดโครงการไปแล้ว เม็ดเงินลงทุนในระบบลดลงต่อเนื่อง อยู่ที่ 219,860 ล้านบาท ลดลง 45,537 ล้านบาท หรือ -17.16% จากสิ้นปี 2566

 

19 บลจ.โตถ้วนหน้า-4 บลจ. AUM ลดลง

ด้านบลจ.ทั้งหมด 23 แห่ง พบส่วนใหญ่มี AUM เติบโต มีเพียง 4 บลจ.ที่ AUM ลดลง ได้แก่ บลจ.แอสเซท พลัส ลดลง 37.02% จากสิ้นปี 2566 หรือลดลง 16,445 ล้านบาท มูลค่า AUM อยู่ที่ 27,982 ล้านบาท รองลงมา บลจ.ฟิลลิป ลดลง 32.23%หรือ 989 ล้านบาท มูลค่า AUM อยู่ที่ 2,071 ล้านบาท บลจ.เคดับบลิวไอ ลดลง 14.29% หรือ 330 ล้านบาท มูลค่า AUM อยู่ที่ 1,975 ล้านบาทและบลจ.อเบอร์ดีน ลดลง 582.21 ล้านบาท หรือ -2.62% มูลค่า AUM ลดเล็กน้อยอยู่ที่ 21,611 ล้านบาท

ขณะที่บลจ.กสิกรไทย ยังครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่ง ด้วยมูลค่า AUM ที่ 1,296,307 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 21.94% รองลงมา บลจ.ไทยพาณิชย์ มูลค่า 1,074,499 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 18.18% ซึ่งเป็นเพียง 2 บลจ.ที่มีมูลค่าทรัพย์สินทะลุ 1 ล้านล้านบาท

บลจ.ยูโอบี แนะลงทุนหุ้นสหรัฐฯ-ทั่วโลก

บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมผลตอบแทนปี 2567 ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นนำตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่หุ้นไต้หวันปรับตัวขึ้นได้ดีโดยเปรียบเทียบกับตลาดกำลังพัฒนา สะท้อนการเติบโตของกำไรในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ AI-Adoption รวมถึงหุ้นเติบโตและห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดการณ์ว่าแนวโน้มผลิตภาพ (Productivity) ที่จะเกิดจากการใช้เทคโนโลยีและการลดต้นทุนจะสนับสนุนแนวโน้มการเติบโตของอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้นของหุ้นเติบโต (Growth) และรวมถึงบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีต่อเนื่องในปี 2568

กองทุนที่แนะนำลงทุนได้แก่ กองทุนหุ้นสหรัฐฯและหุ้นทั่วโลก ผ่านกองทุน UUSA, UESG และ UGD

สำหรับกองทุน UUSA เลือกลงทุนในหุ้นเติบโต (Growth) บริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มการเติบโตของอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้นในปี 2568 ที่ดี โดยแนวนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจ (Pro-Growth) ของพรรครีพับลีกัน คาดว่าจะสนับสนุนกำลังการบริโภคสหรัฐฯ พร้อมคาดการณ์เทรนด์ AI-Adoption ยังสนับสนุนผลิตภาพทางเศรษฐกิจ (Productivity) ในระยะยาว (Secular-Trend)

กองทุนกลุ่มหุ้นโลกที่ Bottom-Up ได้ดีในกองทุน UESG ที่มีหุ้นครบทุก Character (Style Agnostic) เป็น All-weather Strategy สำหรับ Global Equity Allocation

กองทุน UGD (Durable Enterpriar) จากการเป็นหุ้นขนาดกลางที่รายได้และกำไรผันผวนต่ำจากสภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดยหุ้นที่กองทุนลงทุนซ้ำกับกองทุนหุ้นโลกอื่นๆ ค่อนข้างน้อย (Low Overlap) ทำให้เกิด Diversification-Benefit โดยกองทุนมีน้ำหนักลงทุนในกลุ่ม Industrial และ Financials ขนาดกลางค่อนข้างมาก เป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากแนวโน้มนโยบายพรรครีพับลิกัน

ส่วนกองทุนตราสารหนี้ทั่วโลกแนะนำกองทุน UGIS บนแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นกองทุนสำหรับการเป็น Top-of-Mind Global Fixed Income Solutions จากการปรับพอร์ตที่ยืดหยุ่นสูง พร้อมใช้การทำ Bottom-Up เลือกลงทุนในตราสารหนี้้ที่มีระดัยราคาต่อมูลค่าที่น่าสนใจโดยเปรียบเทียบกับความเสี่ยงและยืดหยุ่นในการปับอายุคงเหลือของพอร์ตการลงทุนโดยมีทั้ง UGIS และ UGISX ให้เลือกลงทุน

นอกจากนี้แนะนำกองทุน UGEAR ซึ่งมีค่าความสัมพันธ์กับกองทุนหุ้นโลกอื่นๆ ที่ต่ำมาก จากการเป็น Absolute Return และมุ่งหาผลตอบแทนจาก Relative Value ซึ่งปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนไป คาดว่าจะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนเทียบกับความผันผวนด้านราคาที่ดี ซึ่งจะช่วยสนับสนุน Risk/Reward Ratio ของ Portfolio ในฐานะ Alternative Global Equity

———————————————————————————————————————————————————–