บล.กสิกรฯให้แนวรับ 1,550 และ1,530 สัปดาห์หน้าไม่ถึง 1,600

HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยมองหุ้นสัปดาห์หน้าแกว่งในกรอบ 1,530-1,585  จุด ติดตามการประชุมกนง. บอนด์ยีลด์สหรัฐ  สถานการณ์โควิด วัคซีน  ส่วนค่าเงินบาท ธนาคารกสิกรไทยคาดเคลื่อนไหวที่ 30.70-31.10 บาท หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 4 เดือนที่ 30.99 บาท

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย คาดตลาดหุ้นสัปดาห์ถัดไป (22-26 มี.ค.) ดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,550 และ 1,530 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,575 และ 1,585 จุด ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมกนง. (24 มี.ค.) ปัจจัยการเมือง ทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ สถานการณ์โควิด-19 รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิด  ตลอดจนสถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนก.พ. รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนมี.ค. (เบื้องต้น) ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนมี.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน

หุ้นปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,563.96 จุด ลดลง 0.27% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 84,602.98 ล้านบาท ลดลง 15.68% ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 5.36% มาปิดที่ 428.18 จุด

หุ้นแกว่งตัวอิงขาลงในช่วงต้นสัปดาห์ ตามแรงขายทำกำไรก่อนการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในช่วงกลางสัปดาห์ ประกอบกับมีรายงานข่าวการระงับใช้วัคซีนต้านโควิด 19 ในต่างประเทศ อย่างไรก็ดี หุ้นดีดตัวกลับมาได้บางส่วน ขานรับผลการประชุมเฟด ซึ่งส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีหุ้นร่วงลงอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ตามต่างประเทศ ท่ามกลางความกังวลต่อการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และการปรับลดน้ำหนักหุ้นไทยของดัชนี FTSE ซึ่งมีผลในวันที่ 19 มี.ค.

สำหรับค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (22-26 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหว ที่ 30.70-31.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 4 เดือนที่ 30.99 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ขยับแข็งค่าขึ้น ท่ามกลางอานิสงส์จากบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีของสหรัฐฯ กลับมาทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 เดือนที่ 1.75% ท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อ แม้ว่าเฟดจะย้ำมุมมองว่าเงินเฟ้อเป็นภาวะชั่วคราว และเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและวงเงิน QE ไว้ตามเดิมต่อไป

ในวันศุกร์ (19 มี.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.83 เทียบกับระดับ 30.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (12 มี.ค.)