บล.กสิกรฯให้แนวต้าน 1,600 จุด สัปดาห์หน้า รอผลประชุมเฟด

HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยมองหุ้นสัปดาห์หน้า ให้แนวรับที่ 1,550 และ 1,520 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,585 และ 1,600 จุด จับตา 3 ปัจจัย เฟด-โควิด-การเมือง ส่วนค่าเงินบาท เคลื่อนไหว 30.50-30.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย มองหุ้นสัปดาห์ถัดไป (15-19 มี.ค.) ดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,550 และ 1,520 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,585 และ 1,600 จุด ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (16-17 มี.ค.) ปัจจัยการเมือง รวมถึงสถานการณ์โควิด 19 ทั้งในและต่างประเทศ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านเดือนก.พ. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.พ. ของจีน

หุ้นไทยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,568.19 จุด เพิ่มขึ้น 1.56% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 100,332.74 ล้านบาท ลดลง 0.74% ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 2.97% มาปิดที่ 406.40 จุด

หุ้นช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาแกว่งตัวในกรอบแคบ โดยมีแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์) เพิ่มขึ้น ก่อนหุ้นจะทยอยดีดตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ตามทิศทางตลาดต่างประเทศ หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ชะลอตัวลง ประกอบกับมีแรงหนุนจากความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี หุ้นย่อตัวลงในช่วงปลายสัปดาห์จากแรงขายทำกำไรหลังตอบรับปัจจัยบวกไปพอสมควร ประกอบกับมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง

สำหรับค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (15-19 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวที่ 30.50-30.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาทขยับอ่อนค่าแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 4 เดือนที่ 30.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับอานิสงส์จากบอนด์ยีลด์สูงขึ้น ซึ่งมีแรงหนุนมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ดีเงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนตามจังหวะการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และสถานะซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติในระหว่างสัปดาห์ ก่อนจะกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งและหนุนเงินดอลลาร์ฯ

ในวันศุกร์ (12 มี.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.77 เทียบกับระดับ 30.49 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (5 มี.ค.)